เรื่องราวของการลอกเลียนแบบในวงการไอทีนั้น อันที่จริงก็จัดว่าไม่ใช่เรื่องดีซะทีเดียว ดังที่จะเห็นได้จากคดีความฟ้องร้องสิทธิบัตรมากมาย โดยเฉพาะรายของ Apple ที่เป็นทั้งผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องก็หลายกรณี เช่นเดียวกับ Google ที่เป็นหนึ่งบริษัทไอทีขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีและสิทธิบัตรในมือมากมาย ซึ่งเราก็อาจจะได้เห็นว่าบางเทคโนโลยีของ Google นั้นน่าสนใจมาก แต่กลับทำออกมาให้เราใช้งานค่อนข้างยาก หรือบางอย่างที่ออกมาแล้วมันก็หายไปเพราะไม่ได้รับความนิยม ต่างกับ Apple ที่นำเสนอเทคโนโลยีออกมาให้ผู้ใช้เข้าใจง่าย สามารถเรียนรู้การใช้งานได้ง่าย ซึ่งที่มาของเทคโนโลยี Apple หลายๆ อย่างก็มีทั้งจากความคิดสร้างสรรค์ของ Apple เอง และแน่นอนว่าหลายอย่างก็มาจากการลอกเลียนแบบคู่แข่ง
ซึ่งก็มีคนให้ความเห็นเอาไว้ครับ ว่าไหนๆ Apple เองก็ชอบปรับเทคโนโลยีของคนอื่นเข้ามาเป็นในรูปแบบของตนแล้ว ถ้าหาก Apple จะลอกเลียนแบบและทำตาม 6 สิ่งของ Google ก็น่าจะดีไม่น้อย เรามาดูกันว่าทั้ง 6 ข้อมีอะไรบ้าง
1. ขอให้ Apple ทำ Siri ให้ใช้งานได้แบบใน Moto X
ในด้านของระบบสั่งงานด้วยเสียงในสมาร์ทโฟน หลายๆ ท่านคงพอทราบกันอยู่แล้วว่า Google Now สามารถทำงานหลายๆ อย่างและรับฟังเสียงผู้ใช้ได้ดีกว่า Siri (นับเฉพาะภาษาอังกฤษสำเนียงถูกต้องนะ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฟีเจอร์การรับคำสั่งเสียงจากผู้ใช้แบบที่สามารถพูดกับสมาร์ทโฟนได้เลยใน Moto X ที่เพิ่งเปิดตัวไป ที่เราไม่จำเป็นต้องกดปุ่มใดๆ เพื่อเริ่มพูด แต่เราสามารถพูดลงไปได้เลยหลังจากพูดคำว่า “Google Now” เนื่องจาก Moto X จะเปิดส่วนการรับคำสั่งและประมวลผลเสียงเอาไว้ตลอดเวลา ดังตัวอย่างในคลิปด้านล่างนี้
ซึ่งก็มีคนอยากให้ Siri สามารถทำงานได้แบบ Google Now ใน Moto X บ้าง คือสามารถสั่งได้โดยไม่ต้องกดปุ่มโฮมค้างไว้อย่างในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรมันก็คงไม่ค่อยมีผลกับคนไทยล่ะนะ
2. ย้ายฐานการผลิต iPhone ไปอยู่ในสหรัฐฯ แบบเดียวกับ Moto X
อ้างอิงจาก Moto X ที่เป็นตัวแทนของ Google อีกเช่นเคยครับ โดยในงานเปิดตัว Moto X นั้น มีประกาศไว้ชัดเจนเลยว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่ประกอบในสหรัฐฯ เพียงที่เดียว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี งานประกอบมาตรฐานสหรัฐฯ ซึ่งโดยมากแล้วจะมีมาตรฐานงานที่ดีกว่าโรงงานในจีน ซึ่งในช่วงหลังๆ มานี้ เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้ Apple นำผลิตภัณฑ์ของตนกลับมาผลิตในประเทศมากขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์ของ Apple เริ่มมีคุณภาพลดลงจากเดิม ทั้งเรื่องของชิ้นส่วนและงานประกอบ อีกทั้งถ้ามองในมุมของคนอเมริกันเอง ก็คืออาจจะได้ในแง่ของราคาที่ลดลงจากเดิมอีกด้วย เพราะต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ลดลง (แต่เอาเข้าจริงก็คงไม่ลดลงแน่ๆ เพราะค่าแรงในสหรัฐฯ แพงกว่าจีน)
และอีกสาเหตุที่แม้คนอยากให้ Apple นำ iPhone ไปผลิตในสหรัฐฯ แต่ก็คงทำไม่ได้ ก็เพราะปริมาณความต้องการของ iPhone สูงกว่า Moto X มากๆ ดังนั้นการผลิต iPhone ในสหรัฐฯ คงเป็นไปได้ยากแน่ๆ
3. ผลิต iPad mini ที่ใช้จอความละเอียดสูงระดับ Retina Display เหมือนกับ Nexus 7 รุ่นใหม่
ตัวของ iPad mini นั้น ดูเหมือนจะมีข้อเสียที่หลายคนให้ความเห็นตรงกันก็คือเรื่องของจอที่น่าจะมาพร้อมความละเอียดระดับ Retina Display เช่นเดียวกับ iPad 4 และ iPhone แต่ก็เชื่อว่าเหตุผลที่ Apple ยังใช้จอ 1024 x 768 อยู่ ก็เพื่อเก็บจอ Retina Display ไว้ใช้กับ iPad mini รุ่นหลังๆ เป็นหลัก ดังนั้นก็หวังว่า iPad mini 2 จะมาพร้อมจอระดับ Retina Display เสียที เพราะขนาด Nexus 7 รุ่นใหม่ที่ใช้จอ 7 นิ้ว (เล็กกว่า iPad mini) ยังใช้จอความละเอียดสูงถึง 1920 x 1200 เข้าไปแล้ว
4. ทำ Apple TV ออกมาให้มีราคาถูก คล้ายๆ กับ Chromecast
แม้ Apple จะนำหน้า Google เรื่องเกี่ยวกับการสตรีมมิ่งคอนเท้นท์ไปยังทีวีมาก่อน จากตัวของ Apple TV ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงในสหรัฐฯ (และเพิ่งมาเปิดขายในไทยอย่างเป็นทางการไม่นานนัก) แต่ Google เองก็โดดเข้ามาในตลาดนี้ด้วยผลิตภัณฑ์ของตนที่มีชื่อว่า Chromecast ซึ่งสามารถทำงานได้คล้ายๆ กัน (บทความเปรียบเทียบ Apple TV กับ Chromecast) แต่มาในราคาที่ถูกกว่ากันราว 3 เท่าตัว จึงได้รับความสนใจจากตลาดเป็นอย่างมาก และน่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ Apple TV จะราคาแพงกว่า Chromecast แต่ก็มีคอนเท้นท์ที่มากกว่า ฟีเจอร์ต่างๆ เยอะกว่า ทำให้ผู้ใช้งานทั่วไปส่วนใหญ่ก็น่าจะชอบใจ Apple TV มากกว่า Chromecast พอสมควร ซึ่งถ้า Apple ประกาศลดราคา Apple TV รุ่นใหม่ลง อาจจะไม่ต้องถูกกว่า Chromecast แต่ขอให้ลดลงจากปัจจุบันพอสมควร ก็น่าจะรักษาฐานกลุ่มตลาดเอาไว้ได้อย่างไม่ยากเย็น
5. เปิดตัวโซเชียลเน็ตเวิร์คคล้าย Google+
วัตถุประสงค์ของ Google+ นั้น นอกจากจะมีไว้ให้ผู้ใช้งานได้ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งวัตถุประสงค์ที่สำคัญสำหรับ Google เอง ก็คือเอาไว้สำหรับเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะในแง่ของข้อมูลตรงๆ หรือข้อมูลในเชิงความสัมพันธ์/ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานด้วยกันเอง ทำให้ Google มีข้อมูลสำหรับผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก เพื่อจะได้นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ต่อไป ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือสามารถนำไปประยุกต์เข้ากับ Google Now ทำให้สามารถแสดงข้อมูลให้ตรงกับสิ่งที่ผู้ใช้สนใจได้ และยังนำไปต่อยอดได้อีกมากทีเดียว
ซึ่งเหตุผลข้อข้างบนก็เป็นเหตุผลหลักที่มีคนเสนอให้ Apple ทำโซเชียลเน็ตเวิร์คในรูปแบบใกล้เคียงกับ Google+ เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ ที่ถ้าหากสามารถดึงคนเข้ามาใช้งานได้มากๆ ก็เท่ากับ Apple จะได้รับข้อมูลจากผู้ใช้เข้ามาเองโดยที่แทบไม่ต้องลงแรงมากนัก
แต่อันที่จริงแล้ว Apple ก็เคยมีโซเชียลเน็ตเวิร์คเล็กๆ ของตนเองเหมือนกัน ในชื่อว่า Ping ซึ่งเป็นโซเชียลเน็ตเวิร์คในเชิงเพลงที่ไปผูกกับ iTunes และแน่นอนว่าเจ๊งจนปิดบริการไปเรียบร้อยแล้ว
6. เปิดตัวโครงการเพื่อสาธารณะอย่าง Google
ถ้าติดตามข่าวแวดวงการไอทีมาตลอด จะเห็นว่า Google เปิดตัวโครงการเพื่อสาธารณะในสหรัฐฯ อยู่หลายโครงการ ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ Google Fiber ที่เป็นการเดินสายไฟเบอร์ออปติกให้ประชาชนในบางรัฐฯ สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ฟรี พร้อมทั้งสามารถรับชมเคเบิ้ลทีวีได้ด้วย (มีค่ารายเดือน) หรือจะเป็นโปรเจ็กต์ WiFi ฟรีที่ร้าน Starbuck (ในสหรัฐฯ อีกเช่นเคย) รวมไปถึงโปรเจ็กต์อย่าง Loon ที่ Google จะปล่อยบอลลูน ซึ่งตัวบอลลูนจะมีตัวปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ตอยู่ โดยบอลลูนแต่ละลูกจะเชื่อมต่อถึงกันผ่านอินเตอร์เน็ตเช่นเดียวกัน จุดประสงค์ก็คือเพื่อกระจายการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตให้ได้ทั่วโลกให้มากที่สุด
แน่นอนว่าโปรเจ็กต์เหล่านี้จำเป็นจะต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งเรื่องเงินคงจะไม่เป็นปัญหาสำหรับ Apple ถ้าจะเริ่มทำโครงการเพื่อสาธารณะบ้าง ด้วยเงินสดคงคลังที่สูงมากถึง 1.46 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถ้า Apple ทำโครงการสาธารณะขึ้นมาบ้างจริง ภาพพจน์ของบริษัทก็น่าจะดีขึ้นตามมาด้วยแน่นอน
ที่มาของเนื้อหา : Cult of Mac?