ถ้ายังจำกันได้ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา SpecPhone เราได้รีวิวมือถือระดับไฮเอนด์ของ Sony อย่าง Xperia XZs ไป ซึ่งก็นับว่าเป็นเครื่องที่ Sony ทำออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องได้รับการปรับจูนอยู่อีกไม่น้อย ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือเรื่องภาพถ่ายจากกล้องหลังซึ่งไม่ได้อย่างที่คาดหวัง แม้จะมีลูกเล่นในส่วนของการถ่ายวิดีโอเพิ่มเข้ามาก็ตาม ทำให้ความหวังทั้งมวลตกไปอยู่กับ Sony Xperia XZ Premium ที่มีแผนจะเริ่มวางจำหน่ายหลังจาก XZs เล็กน้อย
และในที่สุดก็ถึงเวลาเริ่มเปิดขาย XZ Premium เป็นครั้งแรกในไทย พร้อมกับกระแสความสนใจจากทั้งเหล่าสาวกอารยธรรม และผู้ที่กำลังมองหาสมาร์ทโฟนระดับท็อปเครื่องใหม่ ทำให้ทางทีมงาน SpecPhone ก็ไม่พลาดที่จะทดสอบ และรีวิว Sony Xperia XZ Premium ให้ทุกท่านได้ชมกันครับ โดยเครื่องที่ทำการรีวิวในครั้งนี้เป็นเครื่องรุ่นขายจริงในไทย ดังนั้นมั่นใจได้เลยว่าสเปคตรงแน่นอน
สำหรับในภาพรวมแล้ว Sony Xperia XZ Premium จะค่อนข้างมีความใกล้เคียงกับ Sony Xperia XZs มากๆ ฮาร์ดแวร์หลายส่วนก็เป็นโมเดลเดียวกัน แต่จะมีความต่างในด้านรายละเอียด ความแรงเล็กน้อย ดังนั้นก่อนอื่น เรามาดูสเปค Sony Xperia XZ Premium ก่อนแล้วกันครับ
สเปค Sony Xperia XZ Premium
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 แบบ 8 คอร์ พร้อมชิปกราฟิก Adreno 540
- แรม 4 GB
- รอม 64 GB ใช้ชิปหน่วยความจำแบบ UFS รองรับ MicroSDXC สูงสุด 256 GB
- หน้าจอขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียดระดับ 4K (3840 x 2160) พร้อมเทคโนโลยีต่างๆ ได้แก่
- รองรับการแสดงผลแบบ HDR
- TRILUMINOS เพื่อสีสันที่สวยงาม
- X-Reality for Mobile เพื่อความคมชัด
- แสดงสีได้ครอบคลุม 138% ของมาตรฐาน sRGB เมื่อเทียบกับมาตรฐานวิดีโอทั่วไป
- กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5 (รวมถึงด้านหล้งเครื่องด้วย)
- กล้องหลัง Motion Eye ความละเอียด 19 ล้านพิกเซล ด้วยเซ็นเซอร์รับภาพ Exmor RS ขนาด 1/2.3″ ขนาดพิกเซล 1.22 ไมครอน รูรับแสง f/2.0 จับโฟกัสด้วยเทคโนโลยี Predictive PDAF และเลเซอร์ออโต้โฟกัส รองรับการถ่ายวิดีโอสโลว์โมชันเฟรมเรตสูงสุด 960fps พร้อมกันสั่น SteadyShot 5 แกน
- กล้องหน้า 13 ล้านพิกเซล เซ็นเซอร์รับภาพ Exmor RS 1/3.06″ รูรับแสง f/2.0
- ใช้งานได้ 2 นาโนซิม (ถาดซิมเป็นแบบไฮบริด)
- รองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อครบครันทั้ง 3CA และ 4×4 MIMO
- Android 7.1.1 Nougat
- กันน้ำกันฝุ่นได้ตามมาตรฐาน IP65/68
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ปุ่ม Power ด้านข้าง และมีปุ่มกล้องให้ด้วย
- Bluetooth 5.0 / NFC / USB-C (USB 3.1 Gen 1)
- แบตเตอรี่ความจุ 3230 mAh รองรับการชาร์จไวตามมาตรฐาน Quick Charge 3.0
- น้ำหนัก 191 กรัม
- ราคา 25,990 บาท
- สเปค Sony Xperia XZ Premium เต็มๆ
ถ้าจับสเปคของ Sony Xperia XZ Premium ไปเทียบกับ XZs แล้ว จะเห็นว่าค่อนข้างคล้ายคลึงกัน แต่ที่จริงแล้วมีความแตกต่างกันไม่ใช่น้อยๆ ตัวอย่างเช่น ชิปประมวลผลที่สดใหม่กว่า หน้าจอความละเอียดสูงขึ้นเป็น 4K แถมยังเปลี่ยนมาใช้ชิปหน่วยความจำเป็นแบบ UFS เหมือนๆ กับเหล่ารุ่นท็อปจากแบรนด์อื่นเสียที
แต่อย่างไรก็ตาม Sony ก็ยังคงเก็บฟีเจอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน เช่นความสามารถในการกันน้ำ กันฝุ่น เทคโนโลยีการถนอมแบต Qnovo ก็ยังมีใส่มา เฉกเช่นเดียวกับแรมที่ก็ยังคงใส่มาสุดแค่ 4 GB เช่นกัน (ฮา)
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST TECHNOLOGY
Design
สำหรับผู้ที่มีความคุ้นเคยกับมือถือ Sony อยู่แล้ว ก็จะพอทราบกันดีว่ามือถือแต่ละรุ่นนั้น จะใช้ปรัชญาการออกแบบที่มีแกนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน แล้วมาปรับรายละเอียดแต่ละจุดให้มีความแตกต่างและเข้ากับยุคสมัย ในสไตล์ Loop Surface ซึ่งสำหรับ Sony Xperia XZ Premium ก็จะมีความแตกต่างจาก XZs คือเปลี่ยนวัสดุภายนอก จากที่ใช้โลหะ ALKALEIDO มาเป็นกระจก Gorilla Glass 5 ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวเครื่อง ทำให้มีความหรูหรา แวววาว และแตกต่างไปจากสมาร์ทโฟนรุ่นอื่นๆ ในตลาดอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีการผสมนำวัสดุอื่นมาใช้ด้วย อย่างเช่นด้านบนและด้านล่างของเครื่องซึ่งใช้โลหะบรัชลาย ซึ่งให้คุณสมบัติทั้งความแข็งแกร่งและความเรียบหรูอีกด้วย โดยสีที่รีวิวในครั้งนี้คือสีโครเมี่ยมสะท้อนแวววาว (Luminous Chrome)
มาดูกันที่ด้านหน้าก่อนครับ ส่วนแถบบนเหนือจอก็จะเป็นตำแหน่งของพวกเซ็นเซอร์ต่างๆ ลำโพงสนทนา รวมถึงกล้องหน้าตามมาตรฐาน แต่ถ้าสังเกตดีๆ จากในภาพที่สอง ตรงขอบเกือบซ้ายสุดของเครื่องจะมีจุดเทาเล็กๆ อยู่ ตรงนั้นคือไฟ LED สำหรับแจ้งเตือนนะครับ ซึ่งจะกระพริบเมื่อมีการแจ้งเตือนเข้ามา รวมถึงจะมีไฟติดค้างไว้ขณะชาร์จแบตเตอรี่
ส่วนขอบล่างก็จะมีเพียงช่องลำโพงสนทนา ซึ่งภายในก็จะมีลำโพงอีกตัวซ่อนอยู่ สำหรับใช้เมื่อเล่นเพลง หรือวิดีโอ เพื่อทำให้เสียงที่ออกมากลายเป็นแบบสเตอริโอจากลำโพงทั้งด้านบนและด้านล่างของจอนั่นเอง สำหรับปุ่มสั่งงานทั้ง 3 ปุ่มก็จะเป็นปุ่มแบบ software ของตัว Android เอง
กระจกหน้าจอ Sony Xperia XZ Premium เป็นกระจกแบบขอบโค้ง 2.5D ทำให้สัมผัสตรงขอบเครื่องมีความโค้งมนรับกับมือได้ดีมากๆ สำหรับภาพจากจอก็ต้องบอกว่าเนียนสุดๆ เนื่องจากเป็นจอความละเอียดระดับ 4K ทั้งยังอัดแน่นมาด้วยเทคโนโลยีสำหรับการแสดงผลมากมาย อย่างเช่น TRILUMINOS ที่มีบทบาทในการเพิ่มสีสันให้สวยงาม รวมถึง X-Reality for Mobile ที่ช่วยเพิ่มความคมชัดให้กับภาพ ซึ่งทั้งสองตัวนี้ Sony ก็มีใส่มาในมือถือของตนแทบจะทุกรุ่นอยู่แล้ว
แต่เทคโนโลยีที่มีเพิ่มเข้ามาเป็นครั้งแรกของ Sony ก็คือการแสดงผลแบบ HDR บนจอมือถือของตนเอง ซึ่งข้อดีที่ผู้ใช้งานจะได้รับก็คือ ภาพที่แสดงมีเฉดสีที่กว้างขึ้น รวมถึงภาพในส่วนที่เป็นแสงเงาหรือไฮไลท์ต่างๆ ก็มีความชัดเจนขึ้น ต่างจากจอมือถือทั่วไปที่อาจจะกลายเป็นแถบสีดำ หรือขาวสว่างเป็นแถบไปเลย …แต่ทั้งนี้ ต้องเป็นการรับชมจากไฟล์ฟอร์แมต HDR10 และ HLG เท่านั้น ซึ่งก็ยังหารับชมได้ไม่สะดวกนัก
ทีนี้หลายท่านอาจจะมีคำถามว่า Sony Xperia XZ Premium ใช้จอ 4K แล้วแบตจะอึดหรอ?
ตรงนี้จากที่ผมทดสอบ รีวิวแบบใช้งานเป็นเครื่องหลักจริงๆ กับรูปแบบการใช้งานทั่วไป บอกเลยว่าเหลือเฟือสำหรับการใช้ใน 1 วันครับ เผลอๆ จะแบตอึดกว่ามือถือหลายๆ รุ่นที่จอความละเอียดต่ำกว่าเสียด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ก็ต้องยกความชอบให้กับทีมพัฒนาส่วนการประมวลผลภาพ ร่วมกับฝั่งฮาร์ดแวร์ที่ปรับแต่งออกมาได้ดีจริงๆ ที่เห็นได้ชัดสุดก็คือการปรับเปลี่ยนกระบวนการอัพสเกลภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กินพลังประมวลผลและพลังงานน้อยลง โดย Sony เลือกมาใช้ด้วยกัน 2 แบบ สรุปง่ายๆ ก็คือ
- Pixel Doubler > ฮาร์ดแวร์หน้าจอจำลองจาก 1 พิกเซลออกเป็น 4 พิกเซลย่อยด้วยตนเอง จะใช้กับการแสดงผลทั่วๆ ไปและเกม
- Pixel Complement > ฮาร์ดแวร์หน้าจอจะประมวลผลแต่ละพิกเซล เพื่อเติมพิกเซลเข้าไปในตำแหน่งใกล้เคียงให้ได้ความละเอียดระดับ 4K จะใช้กับแอปดูภาพ (Album) และการรับชมวิดีโอ
ซึ่งการนำฮาร์ดแวร์หน้าจอมาช่วยอัพสเกลภาพนี้ ช่วยลดการทำงานของ CPU หลักลง และทำให้ไม่เปลืองแบตเตอรี่จนเกินไปด้วยครับ
สำหรับความสว่างหน้าจอก็จัดว่าทำได้สมกับการเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นท็อป ไม่ว่าจะใช้งานในที่มีแสงน้อย หรือจะใช้งานกลางแจ้งก็ทำได้อย่างราบรื่น สามารถมองเห็นภาพบนจอได้ชัดเจน แม้จะอยู่กลางแจ้งแดดแรงๆ ก็ตาม จะติดนิดหน่อยก็ตามบริเวณขอบบนและขอบล่างของจอที่เป็นกระจกนี่แหละครับ ที่มันสะท้อนแสงเข้าตาอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
เมื่อพลิกมาด้านหลัง ต้องบอกเลยว่าฝาหลัง Sony Xperia XZ Premium สามารถใช้แทนกระจกส่องหน้าได้เลยทีเดียว ก็อาจจะมองว่าเป็นอีกหนึ่งประโยชน์ของตัวเครื่องก็ได้อยู่ครับ เสมือนว่าพกอุปกรณ์ชิ้นเดียว เป็นได้ทั้งสมาร์ทโฟน และกระจกส่องหน้าเลยก็ว่าได้ แต่ทั้งนี้ ความสวยงามก็มาพร้อมรอยนิ้วมือด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากตั้งใจจะใช้งาน Sony Xperia XZ Premium แบบไม่ใส่เคส ก็อาจต้องคอยทำความสะอาดฝาหลังกันซักเล็กน้อย
ส่วนการออกแบบด้านหลังโดยรวมนั้น จะมีรายละเอียดที่แตกต่างจาก XZs อยู่หลายจุดครับ นอกเหนือจากวัสดุที่ต่างกันแล้ว ที่เห็นชัดเลยก็คือแถบของแฟลช, เซ็นเซอร์เลเซอร์ออโต้โฟกัส และเซ็นเซอร์ RGBC-IR จะย้ายไปอยู่ในระนาบเดียวกับกล้องหลัง นอกจากนี้ส่วนล่างของฝาหลังยังถูกออกแบบเป็นชิ้นเดียวกันทั้งหมดอีกด้วย
เมื่อเจาะลึกที่กล้องหลัง ตัวของกล้องเองจะไม่ได้ราบไปกับผิวฝาหลังซะทีเดียวครับ แต่มีขอบอะลูมิเนียมยกสูงขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย เพื่อทั้งความสวยงาม และปกป้องกระจกปิดหน้าเลนส์ และอีกส่วนที่น่าสนใจก็คือเซ็นเซอร์ RGBC-IR ซึ่งมีหน้าที่สำหรับตรวจจับสภาพแวดล้อมของบริเวณที่ทำการถ่ายภาพ แล้วนำค่าที่ได้ไปใช้คำนวณ ประมวลผลสำหรับการชดเชย white balance ชดเชยสีสันให้มีความถูกต้องและเป็นธรรมชาติ ช่วยลดปัญหาถ่ายภาพออกมาแล้วสีเพี้ยน
ส่วนเซ็นเซอร์เลเซอร์ออโต้โฟกัส อันนี้หลายๆ ท่านคงพอจะคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีช่วยโฟกัสภาพที่ได้รับความนิยม มักเห็นอยู่ในสมาร์ทโฟนหลายๆ รุ่นในปัจจุบัน โดยหลักการทำงานก็คือการใช้แสงเลเซอร์ที่ตาเรามองไม่เห็น ยิงออกไปยังวัตถุที่จะถ่าย แล้วใช้การวัดระยะจากเลเซอร์ที่สะท้อนจากวัตถุกลับมายังเซ็นเซอร์ ก็จะได้ระยะห่างโดยประมาณ ช่วยทำให้ระบบปรับระยะโฟกัสภาพได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น
ด้านข้างของ Sony Xperia XZ Premium จะมีแบ่งวัสดุที่ใช้ออกเป็นสองประเภท โดยด้านบนและล่างจะเป็นโลหะบรัชลาย ส่วนด้านข้างจะเป็นวัสดุประเภทไนลอนซึ่งมีคุณสมบัติในเรื่องของความแข็งแกร่ง ความทนทาน ควบคู่กับน้ำหนักที่เบา ซึ่งมีการทำสีไว้เสมือนว่าเป็นโลหะ เมื่อสัมผัสจริงๆ ก็ให้ความรู้สึกเหมือนว่าเป็นโลหะจริงๆ ด้วยเช่นกันครับ ทำให้รูปลักษณ์โดยรวมมีความพรีเมียมสมชื่อเลย สำหรับปุ่มกด และช่องเชื่อมต่อต่างๆ รอบตัวเครื่องก็มีดังนี้
- ด้านบน: ช่องเสียบแจ็คหูฟังขนาด 3.5 mm และช่องรับเสียงของไมค์ตัดเสียงรบกวน
- ด้านล่าง: ช่องรับเสียงของไมค์สนทนา และ USB-C สำหรับชาร์จไฟและซิงค์ข้อมูล
- ด้านซ้าย: ถาดใส่นาโนซิมการ์ดและ MicroSD ซึ่งจะมีแบ่งออกเป็น 2 ถาดออกจากกัน (เมื่อถอดถาดใส่ซิมออกมา เครื่องจะ restart ตัวเองทันที)
- ถาด 1: เป็นถาดใหญ่อยู่ด้านหน้าสุด รองรับนาโนซิม หรือจะใส่ MicroSD แทนก็ได้
- ถาด 2: จะซ่อนเป็นถาดเล็กๆ ภายในตัวเครื่อง ต้องดึงถาด 1 ออกมาก่อน จึงจะดึงถาด 2 ออกมาได้ ใส่ได้เฉพาะนาโนซิมเท่านั้น
- ด้านขวา: แผงปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง, ปุ่ม Power ซึ่งมีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมืออยู่ด้วย และปุ่มกล้องถ่ายรูป
การวางเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือไว้ที่ปุ่ม Power นั้น นับเป็นเอกลักษณ์ที่ Sony จงใจออกแบบมาเป็นอย่างดี และยังคงคอนเซ็ปท์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งทำให้ดีไซน์ของตัวเครื่องดูสอดคล้องกันไปหมด ไม่มีจุดวางนิ้วของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือโผล่ขึ้นมาบนฝาหลังให้ขัดตา รวมถึงยังไม่ต้องทำปุ่มโฮมแบบกดจริงๆ อีกด้วย ส่วนในการใช้งานจริง ก็สามารถวางนิ้วกดลงไปบนปุ่ม Power และถ้านิ้วหรือปุ่มไม่สกปรกเกินไป หน้าจอก็จะปลดล็อกแทบในทันทีหลังหน้าจอติดขึ้นมาเลย
สำหรับภาพตัวเครื่อง Sony Xperia XZ Premium ภาพอื่นๆ ชมได้จากแกลเลอรี่นี้ครับ
Software
ฝั่งซอฟต์แวร์ของ Sony Xperia XZ Premium ก็ยังคงใช้การออกแบบหน้าตาในรูปลักษณ์ที่คุ้นเคย ทำให้คนที่เคยใช้มือถือ Sony มาก่อนสามารถใช้งานต่อได้ทันที หรือถ้าหากเคยใช้ Android ยี่ห้ออื่นมาก่อนก็ปรับตัวได้ไม่ยากครับ เพราะหน้าตา เมนูต่างๆ จะใช้แกนหลักเป็นแบบของ Android มีปรับเปลี่ยนรายละเอียดบางจุดบ้าง
ส่วนภายใน Sony Xperia XZ Premium มาพร้อมกับ Android 7.1.1 ซึ่งจัดว่าเป็นเวอร์ชันล่าสุดมากๆ เกือบจะไล่ตาม Google Pixel ได้ แพทช์ความปลอดภัย ณ เวลาที่เขียนรีวิวนี้ ก็เป็นแพทช์ล่าสุดของวันที่ 1 กรกฎาคมอีกด้วย ประกอบกับประวัติการอัพเดตรอมของ Sony ให้กับมือถือรุ่นท็อปๆ ก็มักจะได้อัพเดตกันยาวนาน ทั้งส่วนของการอัพเวอร์ชัน และแพทช์ความปลอดภัย ดังนั้นจึงหมดห่วงได้เลย อย่างในช่วงที่ผมใช้งานและรีวิวนี้ ก็มีแพทช์ปล่อยตามออกมา คือเป็นแพทช์สำหรับเสริมประสิทธิภาพการเชื่อมต่อ 4G ให้รองรับการใช้งานแบบหลายเสารับสัญญาณได้ (4×4 MIMO)
พื้นที่เก็บข้อมูลภายในเครื่องหลังเปิดใช้งานครั้งแรก จะถูกระบบดึงไปใช้งานราวๆ 14.7 GB จากพื้นที่ตัวเครื่อง 64 GB ซึ่งถ้าคุณเป็นคนชอบถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ อาจจะต้องมองหา MicroSD เร็วๆ ซักตัวมาใช้ด้วยก็จะดีครับ แต่อย่าลืมว่าถ้าใส่ MicroSD ก็จะเหลือช่องใส่ซิมแค่ช่องเดียวด้วยเช่นกัน
แอปติดเครื่องของ Sony Xperia XZ Premium ก็มีมาแต่พวกแอปจาก Google และแอปของ Sony เองเช่น Music, PlayStation, News, Lifelog, Movie Creator เป็นต้น จะมีแอปจากรายอื่นติดมาก็ตัวเดียว นั่นคือ Amazon Shopping เท่านั้น (ไม่สามารถลบได้)
Feature
ในการรีวิวครั้งนี้ ทีมงานเราได้รับเคสฝาพับ SCSG10 ของ Sony เองมาด้วย เลยจับมาพูดถึงซะหน่อยนะครับ
ตัวเคสก็จะเป็นฝาพับเปิดไปทางด้านซ้ายแบบทั่วไป ผิววัสดุภายนอกเป็นหนังแบบ PU สีขาวมีการเจาะช่องตรงลำโพงทั้ง 2 ตัวด้านหน้าเครื่องไว้ ที่สันมีสลักคำว่า Sony ตัวเล็กๆ ส่วนฝาหลังถูกออกแบบให้มีร่องสำหรับพับอยู่ เนื่องจากมันสามารถพับทบกลายเป็นขาตั้งจอขึ้นมาในแนวนอนตามภาพด้านบนได้ โดยมีการเว้นช่องตรงกล้องหลังและเซ็นเซอร์ต่างๆ เอาไว้เป็นสัดส่วน
วัสดุภายในส่วนที่จะนาบไปกับจอนั้น เลือกใช้เป็นจำพวกโพลีคาร์บอเนต ให้ผิวสัมผัสสากมือเล็กน้อย เมื่อปิดฝาพับลงไป ตัวเครื่องก็จะล็อกหน้าจอไปเอง และเมื่อเปิดฝาพับออกมา หน้าจอก็จะติดขึ้นมาเองด้วยเช่นกัน สำหรับวัสดุที่ใช้จับยึดตัวเครื่องติดกับเคสฝาพับก็จะเป็นพลาสติกจำพวกโพลีคาร์บอเนตเช่นกัน ดูแข็งแรงแน่นหนาดี ชมภาพแบบชัดๆ ได้จากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ครับ
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ผมว่าน่าสนใจดี ก็คือความสามารถในการปรับโทนสีจอที่ทำได้หลากหลายมาก ทั้งเรื่องเฉดสีที่มีทั้งแบบสดใส แบบที่เหมาะสำหรับการใช้งานภาพระดับโปร การปรับโทนสีของวิดีโอ ทั้งยังสามารถปรับจูน white balance ของจอได้เองอีกด้วย สมกับที่เป็นมือถือที่ให้ความสำคัญกับการแสดงผลภาพอย่าง Sony Xperia XZ Premium มากๆ ส่วนถ้าใครต้องการส่งภาพขึ้นไปยังจออื่นๆ แบบไร้สาย Sony Xperia XZ Premium ก็รองรับการเชื่อมต่อได้หลายมาตรฐานดี ทั้งการ mirror แบบปกติ, การ Cast ไปยังอุปกรณ์จำพวก Chromecast รวมถึงการเชื่อมต่อผ่านระบบ DLNA ก็ยังมีอยู่
Camera
ด้านของกล้องหลัง Motion Eye ใน Sony Xperia XZ Premium ก็ยังคงใช้ฮาร์ดแวร์เดียวกับ XZs อยู่ นั่นคือเซ็นเซอร์รับภาพความละเอียด 19 ล้านพิกเซล ขนาด 1/2.3″ ซึ่งจัดว่าใหญ่กว่าเซ็นเซอร์รับภาพของกล้องมือถือทั่วๆ ไป มาพร้อมเทคโนโลยี Predictive Capture ที่ช่วยเก็บภาพล่วงหน้าก่อนกดถ่ายจริงไว้สูงสุด 4 ช็อต เพื่อให้ไม่พลาดช็อตสำคัญที่อาจกดถ่ายไม่ทัน รวมๆ แล้วพวกฟีเจอร์ ลูกเล่น และการใช้งานแอปกล้องก็จะไม่แตกต่างจาก XZs เลยครับ (รีวิว Sony Xperia XZs)
ด้านบนก็เป็นตัวอย่างเมนูในแอปกล้อง ซึ่งจะมีโหมดหลักให้มา 4 โหมด ได้แก่ Superior Auto+, Manual, Video และโหมดแอปพิเศษ สำหรับใครที่ใช้โหมด Manual แล้วหาตัวปรับค่า ISO ไม่เจอ อันนี้มันจะไปซ่อนอยู่ในเมนูการตั้งค่าของแอปกล้องในโหมด Manual ครับ (ที่รูปเฟือง) ซึ่งค่าเริ่มต้นจะเป็นค่า ISO แบบอัตโนมัติ สามารถปรับได้ตั้งแต่ ISO 50 ถึง 3200 ส่วนจุดที่น่าเสียดายก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม คือลากชัตเตอร์ได้นานสุดเพียง 1 วินาที และไม่สามารถบันทึกภาพเป็นไฟล์ RAW ได้
ก่อนหน้านี้ Sony มักได้รับเสียงจากผู้ใช้งานเครื่องจริงๆ ว่าไม่สามารถถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอติดต่อกันนานๆ ได้ โดยเฉพาะการถ่ายกลางแจ้ง เนื่องจากตัวเครื่องจะมีความร้อนสูง จนกระทั่งมีแจ้งเตือนว่าไม่สามารถใช้งานแอปกล้องได้ ต้องรอให้เครื่องเย็นลงก่อน
สำหรับใน XZ Premium จากที่ผมลองเอาไปถ่ายวิดีโอ Super Slow Motion 960 fps กลางแจ้งหน้าลาน Parc Paragon ก็ยังพบกับปัญหากล้องร้อนจนไม่สามารถใช้ได้อยู่ครับ ซึ่งก็ต้องรอจนเครื่องเย็นลงก่อน จึงจะเปิดแอปกล้องได้อีกครั้ง ดีหน่อยที่ไม่จำเป็นต้องปิดเครื่อง
แกลเลอรี่ภาพด้านบน คือภาพถ่ายจากกล้องหลังของ XZ Premium ในหลายๆ สภาพแสงครับ (รูปฉบับเต็ม ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
ถ้าให้เทียบภาพที่ได้โดยรวมๆ แล้วระหว่าง XZ Premium กับ XZs ส่วนตัวผมรู้สึกว่าภาพจาก XZ Premium ให้คุณภาพที่ดีกว่าเล็กน้อยครับ ภาพดูเละน้อยลงนิดหน่อย (ผลจากการพยายามลด noise ของระบบ) รวมถึงโทนภาพโดยรวมที่ดูน่าถูกใจคนใช้งานทั่วไปมากกว่า XZs อยู่นิดนึง
แต่ทั้งนี้ หลังจาก Sony Xperia XZ Premium ออกวางขายในหลายๆ ประเทศ มีการพบปัญหากล้องหลังมีความบิดเบี้ยวของภาพ (distortion) ที่ผิดปกติ คือโดยธรรมชาติของกล้องมือถือ มักจะถูกออกแบบมาให้ใช้เลนส์ที่มีมุมภาพกลางๆ ไม่ไวด์และไม่ซูมจนเกินไป เพื่อให้รองรับการการถ่ายภาพได้หลากหลายรูปแบบ และให้มุมภาพที่ใกล้เคียงกับสายตามนุษย์ ซึ่งทำให้ตรงขอบๆ ภาพของกล้องมือถือจะมีการบิดเบี้ยวแบบ distortion เล็กน้อย จะสังเกตได้ชัดก็เมื่อถ่ายภาพที่วัตถุเป็นเส้นตรงในแนวนอน จะเห็นได้เลยว่าตรงขอบๆ ภาพมักจะมีความบิดเบี้ยวในทิศทางแบบตรงกลางป่องออก และริมๆ เบี้ยวเขาเล็กน้อย (อารมณ์คล้ายกับการเซลฟี่ด้วยกล้องหน้า)
แต่สำหรับใน XZ Premium ต้องบอกว่ามันมีการบิดเบี้ยวที่ผิดปกติไปหน่อยครับ คือบางช่วงมันก็ป่องมากไป บางช่วงมันก็เบี้ยวแบบคดไปคดมา ลองดูจากภาพด้านล่างนี้อันเป็นการถ่ายหน้าจอโปรแกรม Microsoft Office Excel ซึ่งเป็นตารางเส้นตรง โดยเทียบกันระหว่าง XZ Premium กับ Huawei P9 ซึ่งผมลากเส้นตรงสีแดงไว้ให้ช่วยสังเกตได้ง่ายขึ้นด้วยครับ
ปัญหานี้คงต้องรอดูกันต่อไปครับว่า Sony จะมีการแก้ไขอย่างไร แต่ถ้าใครที่ใช้ถ่ายรูปตามปกติ ถ่ายวิว ถ่ายคน ถ่ายอาหาร ที่ไม่ได้เป็นงานถ่ายวัตถุเส้นตรงๆ และต้องการความแม่นยำสูง คงไม่ได้รับผลกระทบเท่าไร เพราะภาพถ่ายโดยรวมดูผ่านๆ ก็ปกติดีครับ นอกเหนือจากว่าจะนั่งเพ่งรายละเอียดจริงๆ ถึงจะเห็นว่ามันมีความบิดเบี้ยวที่ไม่ค่อยปกติซักเท่าไร
วิดีโอด้านบนนี้ก็เป็นการทดสอบการถ่ายวิดีโอ Super Slow Motion ที่เฟรมเรต 960fps ที่จะให้ภาพช้ามากๆๆๆ แต่ความละเอียดสูงสุดก็จะลดลงเหลือ 720p และเพื่อคุณภาพที่ดีของไฟล์วิดีโอ แนะนำว่าให้ถ่ายกลางแจ้ง หรือที่ที่มีแสงสว่างดีๆ ครับ
ส่วนคลิปด้านบนนี้ก็เป็นตัวอย่างของวิดีโอในโหมดปกติ เพื่อทดสอบความสามารถของระบบกันสั่นสำหรับวิดีโอ โดยเป็นการถือถ่ายในมือระหว่างผมกำลังเดินอยู่ ยอมรับเลยจริงๆ ว่าระบบกันสั่นทำออกมาได้ดีมาก บางช็อตให้ความรู้สึกเหมือนกำลังต่อมือถือเข้ากับพวกไม้กันสั่นเลยทีเดียว
Performance
คะแนนประสิทธิภาพของ Sony Xperia XZ Premium คงไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วงนัก ด้วยการเลือกใช้ชิปประมวลผลรุ่นท็อปสุดของ Qualcomm ในขณะนี้อย่าง Snapdragon 835 ที่พ่วงมาพร้อมกราฟิกชิปตัวแรง ทำงานร่วมกับแรม 4 GB ทำให้ผลคะแนนทดสอบออกมาอยู่ในกลุ่มที่สูง การใช้งานทั่วไปก็ไหลลื่นดีมาก อันเนื่องมาจากการใช้ฮาร์ดแวร์ที่แรง ร่วมกับการจูนซอฟต์แวร์ที่ Sony ทำออกมาได้ดีโดยตลอด ส่วนที่น่าสนใจก็คือการที่ Sony หันมาใช้ชิปหน่วยความจำรอมแบบ UFS ซะที ซึ่งเมื่อลองทดสอบด้วยแอปยอดนิยมอย่าง AndroBench ก็ทำความเร็วออกมาได้ตามมาตรฐานของกลุ่มชิป UFS ซึ่งด้วยความเร็วระดับนี้ ทำให้การเปิดแอป การเก็บข้อมูล เช่นภาพถ่ายทำได้รวดเร็วทันใจขึ้นมากจริงๆ
ส่วนการทดสอบประสิทธิภาพการเชื่อมต่อเครือข่ายนั้น ต้องบอกเลยว่า Sony Xperia XZ Premium กลายเป็นมือถือขวัญใจสายเน้นความเร็วอินเตอร์เน็ตไปแล้วครับ ด้วยความสามารถของตัวเครื่องที่รองรับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อทั้ง 3CA และที่เด็ดคือมันรองรับการรับส่งข้อมูลแบบหลายเสา 4×4 MIMO อีกด้วย ซึ่งเมื่อใช้งานร่วมกับเครือข่ายที่รองรับ ทำให้ความเร็วในการรับส่งข้อมูลพุ่งขึ้นไปสูงมากๆ เท่าที่ผมเคยเห็นจากที่มีคนเทสความเร็ว 4G ในไทยด้วยแอป Speedtest จากเครื่อง Sony Xperia XZ Premium ไว้ พบว่าความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดขึ้นไปเกินตัวเลข 200 Mbps ความเร็วอัพโหลดก็พุ่งขึ้นไปเกิน 100 Mbps ด้วยเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการเครือข่ายด้วยนะครับ ว่ามีการเปิดให้ใช้งาน 3CA และ 4×4 MIMO ในบริเวณนั้นหรือยัง รวมถึงความหนาแน่นของผู้ใช้งาน ณ จุดนั้น ในช่วงเวลานั้นด้วย อย่างตัวผมเองลองตระเวณทดสอบตามเส้นรถไฟฟ้า BTS ในเมือง ก็มักจะได้ความเร็วดาวน์โหลดราวๆ 60 – 80 Mbps เท่านั้น เคยได้สูงสุดก็ตามในภาพข้างบนนั่นแหละครับ
ส่วนการทดสอบเล่นเกม ก็ไร้ปัญหาครับ เล่นได้ลื่นๆ ทุกเกม อย่างผมลองเล่น Linage 2 ดู โดยใช้ค่ากราฟิกเบื้องต้นที่ตัวเกมตั้งค่ามาให้คือความละเอียดภาพระดับสูงสุด คุณภาพกราฟิกระดับปกติ ความเร็วปกติ ตัวเกมก็สามารถเล่นได้แบบไม่กระตุก และเมื่อลองปรับกราฟิกทุกอย่างให้เป็นระดับสูงสุด พบว่าตัวเกมก็ยังคงเล่นได้แบบไม่มีกระตุกเช่นเดิม เพิ่มเติมคือเฟรมเรตสูงมากแบบลื่นมากจริงๆ
ปล. ผมลองปล่อยบอททิ้งไว้เพื่อทดสอบระยะเวลาที่ใช้ได้ นับจากแบตเตอรี่ 100% พบว่าเมื่อผ่านไป 5 ชั่วโมง 20 นาที แบตเตอรี่จะเหลืออยู่ประมาณ 15% ด้วยกัน
พูดถึงด้านแบตเตอรี่ ก็เป็นสิ่งที่ Sony Xperia XZ Premium ทำออกมาได้ดีเสมอต้นเสมอปลายจริงๆ จากประสบการณ์การใช้งานด้วยรูปแบบการใช้แบบทั่วไป เล่น Facebook, LINE, เปิดเว็บ, ถ่ายรูป, ถ่ายวิดีโอ พบว่าใช้งานทั้งวันได้สบายมากๆ อย่างในภาพที่สองที่แบตเตอรี่ราวๆ 100% ตอนเกือบหกโมงเช้า ก็ใช้งานเรื่อยๆ ทั้งวันมาจนถึงประมาณสองทุ่มครึ่ง แบตยังเหลืออีก 12% ซึ่งถ้าหากต้องการยืดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ ระบบก็จะเปิดใช้งานฟีเจอร์โหมด STAMINA ที่จะลดการทำงานของตัวเครื่องลง ทำให้ใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนานขึ้น สำหรับโหมดนี้จะเห็นผลชัดเจนมากตอนเล่นเกมครับ เพราะตัวเกมจะกระตุกอย่างเห็นได้ชัดในทันที เนื่องจากตัวเครื่องลดพลังในการประมวลผลลงนั่นเอง
นอกจากนี้ก็ยังมีโหมดประหยัดพลังงานขีดสุดอย่าง Ultra STAMINA อีก ซึ่งระบบจะตัดการทำงานแบบสุดๆ จนเหลือแต่การเชื่อมต่อ cellular ในการใช้งานโทรศัพท์และ SMS เท่านั้น แอปที่ใช้งานได้ก็จะจำกัดเหลือแค่การทำงานแบบพื้นฐานเท่านั้น เมื่อลองดูเวลาที่ระบบประเมินว่าจะใช้งานได้จนกว่าแบตหมด ก็เพิ่มขึ้นมาจาก 6 ชั่วโมง เป็นกว่า 10 ชั่วโมงครึ่ง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการให้มือถือมีหน้าที่สแตนด์บายรอรับสาย หรือตั้งใจจะใช้งานแค่เป็นโทรศัพท์ปกติเท่านั้นมากๆ
ซึ่งถ้ามองจากสเปคของ Sony Xperia XZ Premium แล้ว ต้องบอกว่าสุดยอดมากจริงๆ เพราะจอแสดงผลก็เป็นความละเอียดระดับ 4K แถมยังอัดสเปคมาซะแรงมากๆ แต่ยังใช้งานแบตเตอรี่ได้เต็มวันอยู่เลย
การชาร์จแบตเตอรี่
ข้อนี้อาจจะเป็นจุดที่ Sony Xperia XZ Premium ทำได้ไม่เด่นนักครับ แม้ว่าจะอัดแน่นมาด้วยเทคโนโลยีทั้ง Quick Charge 3.0 แถมยังมีเทคโนโลยี Qnovo ที่ช่วยถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่จากการชาร์จไฟ แต่สิ่งที่ทำให้ความสามารถในการชาร์จแบตเตอรี่ของ Sony Xperia XZ Premium ทำออกมาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพก็เนื่องมาจากอะแดปเตอร์ที่แถมมาในกล่องดันเป็นอะแดปเตอร์ธรรมดา ที่จ่ายไฟได้สูงสุดแค่ 5V 1.5A เท่านั้น ซึ่งผมเก็บสถิติการชาร์จแบตเตอรี่ออกมา ได้ข้อมูลของเปอร์เซ็นต์แบตที่ได้ กับเวลาตามนี้ครับ
- 15% – 9:52
- 30% – 10:17 | ใช้เวลา 25 นาที นับจากเริ่มชาร์จ
- 42% – 10:33 | ใช้เวลา 16 นาที | เวลารวม 31 นาที
- 61% – 10:56 | ใช้เวลา 23 นาที | เวลารวม 54 นาที
- 70% – 11:12 | ใช้เวลา 16 นาที | เวลารวม 1 ชั่วโมง 10 นาที
- 84% – 11:43 | ใช้เวลา 31 นาที | เวลารวม 1 ชั่วโมง 41 นาที
- 97% – 12:33 | ใช้เวลา 50 นาที | เวลารวม 2 ชั่วโมง 31 นาที
ส่วนถ้าต้องการจะชาร์จเร็ว คงต้องหาซื้ออะแดปเตอร์ Sony UCH12W (ราคา 1,290 บาท) หรืออะแดปเตอร์อื่นที่รองรับ Quick Charge 3.0 เพิ่มเติมเอานะครับ