หากคุณกำลังมองหานาฬิกาแบบสมาร์ทวอทช์ที่สามารถใช้เป็นอุปกรณ์เสริมสำหรับการออกกำลังกายอยู่ แต่ก็ไม่อยากได้ดีไซน์ที่มันดูแข็งแรง บึกบึนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสุภาพสตรีที่อาจจะต้องการเป็นนาฬิกาที่ไม่ใหญ่เทอะทะเกินไป ใส่แล้วดูเป็นเครื่องประดับได้ด้วย คงต้องยอมรับว่าตัวเลือกในตลาดที่ออกมาตอบโจทย์แนวนี้ค่อนข้างหายากพอสมควร ถ้าเป็นแบบรุ่นราคาย่อมเยา ฟังก์ชันก็อาจจะไม่ครบครันนัก ถ้าเอาแบบดีๆ ไปเลย สวยด้วย ฟังก์ชันครบด้วย ส่วนใหญ่ก็จะคงหนีไม่พ้นกลุ่มของ Apple Watch อย่างแน่นอน
แต่ถ้าหากคุณใช้มือถือ Android ก็จบเลย เพราะมันไม่สามารถทำงานร่วมกับ Apple Watch ได้นั่นเอง แถมนาฬิกากลุ่ม Android Wear ในบ้านเราก็ไม่ได้รับความนิยม (อันที่จริงก็น่าจะทั่วโลกเลยแหละ) เนื่องจากมีผู้ผลิตออกมาน้อย เลิกผลิตกันไปแล้วก็มี ทำให้พื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดตรงจุดนี้จัดว่าน่าสนใจมากๆ ซึ่งตัวของ Fitbit เองก็เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุปกรณ์เสริมสำหรับการออกกำลังกายอยู่แล้ว นับตั้งแต่รุ่นเบาๆ ไปจนถึงรุ่นจริงจัง และยิ่งหลังจาก Fitbit ซื้อกิจการ Pebble หนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ทวอทช์ที่เคยเป็นอดีตตัวเก็งของการล้มยักษ์เข้ามา ก็ยิ่งทำให้แนวทางของ Fitbit ที่จะเจาะตลาดสมาร์ทวอทช์กึ่ง casual กึ่ง pro จริงจังมากขึ้น จนออกมาเป็น Fitbit Versa ที่ทางเราจับมารีวิวในครั้งนี้นี่เองครับ
ก่อนที่จะไปพบกับความสามารถต่างๆ ของ Fitbit Versa เรามาดูอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่อง พร้อมกับรูปร่างหน้าตากันก่อนเลย
Fitbit Versa ได้รับการออกแบบมาให้เป็นสมาร์ทวอทช์ที่เหมาะสำหรับทุกเพศทุกวัยที่ต้องการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กำลังมองหาอุปกรณ์มาช่วยในการกระตุ้น ตรวจสอบแนวทางการออกกำลังของตนเอง โดยที่ตัวสมาร์ทวอทช์ก็สามารถใส่เป็นนาฬิกาข้อมือได้แบบไม่เคอะเขินหรือเทอะทะเกินไป โดย Fitbit Versa ที่ทางเรารีวิวในครั้งนี้จะเป็นรุ่นพิเศษ Special Edition ครับ จุดที่แตกต่างจากรุ่นปกติก็คือสีตัวเรือนจะเป็นสีชมพูโรสโกลด์ มาพร้อมสายถักสีม่วงลาเวนเดอร์ โดยอันที่จริงแล้ว Versa รุ่น Special Edition จะมีสีดำกราไฟต์พร้อมสายถักสีดำชาร์โคลให้เลือกด้วย ส่วนรุ่นปกติก็จะมีให้เลือกด้วยกัน 3 เฉดสีคือสีดำ พีช และสีเงิน ซึ่งถ้าหากใครต้องการสายผ้า ก็คงต้องซื้อรุ่น Special Edition เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในแพ็คเกจของรุ่น Special Edition ก็จะมีสายซิลิโคนปกติสีดำมาให้ด้วย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนสายได้ตามที่ต้องการ โดยสายทั้งสองแบบที่ให้มา ก็จะมีทั้งสายสั้นและสายยาว ให้ผู้ใช้เลือกได้ตามขนาดข้อมือของตนเองได้เลย โดยสายสั้นจะเหมาะกับรอบข้อมือ 5.5″-7.1″ ส่วนสายยาวจะเหมาะกับรอบข้อมือ 7.1″-8.7″
อุปกรณ์อีกชิ้นที่มีให้มาในกล่องก็คือแท่นชาร์จและสาย USB สำหรับเสียบกับอะแดปเตอร์หัว USB ทั่วไป วิธีการชาร์จก็คือให้บีบด้านข้างแท่นชาร์จ เพื่อให้ตัวล็อคด้านหน้ากางออก แล้วค่อยวางตัวเรือนลงไปตามภาพด้านบน โดยให้หน้าสัมผัสทองเหลืองของทั้งตัวนาฬิกาและแท่นชาร์จสัมผัสกัน ส่วนความเร็วในการชาร์จ ส่วนหนึ่งก็จะก็ขึ้นอยู่กับการจ่ายไฟของอะแดปเตอร์ด้วย แต่ถ้าเลือกใช้อะแดปเตอร์มาตรฐานที่มาพร้อมกับสมาร์ทโฟนสมัยนี้ ก็จัดว่าชาร์จเร็วพอสมควรครับ
ด้านระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ จากที่ผมทดสอบมาก็เป็นไปตามที่โฆษณา นั่นคือประมาณ 4 วัน (เปิดเซ็นเซอร์วัดชีพจรตลอดเวลา) โดยเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมด ค่าเริ่มต้นของระบบก็คือจะมีการส่งอีเมลมาแจ้งว่าแบตเตอรี่ Versa ใกล้หมดแล้วนะ อย่าลืมชาร์จด้วย ซึ่งส่วนตัวผมก็มองว่ามันช่วยเตือนได้ดีเลยว่าแบต Versa ใกล้หมดแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ได้ตั้งค่าให้มือถือซิงค์อีเมล หรือไม่ได้เช็คอีเมลบ่อยๆ ก็คงจะพลาดจุดนี้ไปได้ง่ายๆ อยู่เหมือนกัน
ทีนี้มาดูหน้าตากันบ้าง ตัวเรือนจัดว่ามีขนาดที่ไม่ใหญ่เกินไปที่ขนาด 1.34″ ชายไทยขนาดปกติใส่ได้สบาย หรือจะเป็นสุภาพสตรีก็ใส่แล้วดูไม่เทอะทะครับ ยิ่งถ้าเป็นสีชมพูโรสโกลด์นี่ยิ่งเหมาะกับผู้หญิงมากๆ ส่วนหน้าปัดก็จะเป็นกระจกทั้งชิ้น ไม่มีขอบกันกระแทกใดๆ ตัวจอแสดงผลจะไม่เต็มหน้าปัดนะครับ เพราะมันมีขอบทั้ง 4 ด้าน โดยเฉพาะด้านล่างที่ขอบหนาสุด พร้อมกับมีโลโก้ Fitbit อยู่ด้วย ส่วนขอบขวาของจอจะมีจุดเซ็นเซอร์วัดความสว่างแสงภายนอกอยู่ สำหรับใช้ร่วมกับฟีเจอร์ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ
หน้าจอเป็นจอสี LCD แบบสัมผัสขนาดประมาณ 0.95″ x 0.95″ สีสันสดใส ความคมชัดกำลังดี ดูแล้วภาพไม่แตก โดยถ้าหากไม่ได้ใช้งาน หรือตัวผู้ใส่อยู่กับที่นิ่งๆ หน้าจอก็จะดับไปเพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน แต่ถ้าหากผู้ใช้มีการขยับมุมข้อมือ เช่น พลิกข้อมือขึ้นในลักษณะที่ต้องการดูเวลา กดปุ่มใดปุ่มหนึ่งที่ตัวเรือน หรือจิ้มหน้าจอติดกัน 2 ที หน้าจอก็จะติดขึ้นมาเอง โดยผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้หน้าจอติดค้างไว้กี่วินาที ระหว่าง 10 15 หรือ 20 วินาที โดยในด้านความแม่นยำของการตรวจจับองศาการขยับข้อมือเพื่อให้หน้าจอติดขึ้นมา จัดว่าทำได้ดี ถ้าเป็นการยกแขนขึ้นมาจากข้างลำตัวมาเพื่อดูนาฬิกา หน้าจอก็จะติดขึ้นมาแทบจะทันที รวมๆ แล้วถือว่าให้ประสบการณ์ในการใช้งานสมารท์วอทช์ที่หน้าจอไม่ได้เป็นแบบ always on ได้ดีครับ
ด้านข้างของ Fitbit Versa จะมีปุ่มกดด้วยกัน 3 ปุ่ม แบ่งเป็นซ้าย 1 ขวา 2 โดยสำหรับฝั่งซ้ายจะทำหน้าที่เป็นทั้ง
- ปุ่ม Back
- ปุ่มเปิดเครื่อง
- หากกดค้าง จะกลายเป็นปุ่มคีย์ลัดสำหรับเข้าไปยังเมนูตั้งค่าเปิด/ปิดการเปิดหน้าจออัตโนมัติ เปิด/ปิดการแจ้งเตือนจากมือถือ และยังเข้าสู่เมนูควบคุมการเล่นเพลงได้ด้วย
ส่วนสองปุ่มด้านขวาก็ตามนี้ครับ
- ปุ่มบน หากกดครั้งเดียวจะเป็นทางลัดสำหรับเข้าเมนูเริ่มแทร็คการออกกำลังกาย (Exercise) หากกดค้างจะเป็นการเปิดแถบ notification ที่มีการแจ้งเตือนมาจากมือถือ
- ปุ่มล่าง ใช้สำหรับเปิดใช้งานฟีเจอร์นาฬิกาปลุก (Alarm)
สำหรับหน้าที่ของแต่ละปุ่ม ผู้ใช้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเองได้นะ
พลิกมาดูด้านหลังกันบ้างครับ จุดเด่นสุดก็คือแผงตรงกลางซึ่งมีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าระบบวัดชีพจรนี้ Fitbit ให้ชื่อว่า PUREPULSE โดยมันจะตรวจจับอยู่แทบจะตลอดเวลาที่ใช้งานโดยไม่ต้องกดสั่งให้ระบบทำงาน ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถเก็บข้อมูลสุขภาพตนเองได้ค่อนข้างละเอียด ไม่ว่าจะทั้งในระหว่างการออกกำลังกาย ระหว่างพักหรือใช้ชีวิตปกติ (resting) หรือแม้กระทั่งยามหลับ โดยการวัด ตัวเซ็นเซอร์จะยิงเลเซอร์สีเขียวออกมานะครับ
ส่วนใกล้ๆ กันนั้นก็คือแผงจุดทองเหลืองสำหรับเชื่อมต่อกับแท่นชาร์จ และถ้าสังเกตที่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างตัวนาฬิกากับสาย จะเห็นว่ามีหมุดสีเงินอยู่ทั้งสองฝั่ง หมุดนั้นเอาไว้สำหรับเป็นก้านล็อค/ปลดล็อคสาย ช่วยให้สามารถถอดและเปลี่ยนสายได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริม
ความรู้สึกจากการใส่ Fitbit Versa ของผม จากในช่วงที่รีวิวมา พบว่าเป็นนาฬิกาที่ใส่ง่าย คล่องตัวมาก เพราะมันน้ำหนักเบา ตัวเรือนก็ไม่เทอะทะ สามารถใส่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้สบาย อย่างในภาพบนซ้ายจะเห็นว่าตัวหมุดสีเงินมันไม่ได้สัมผัสกับผิวหนังเลย ทำให้ไม่เกิดการกดทับแต่อย่างใด แม้ว่าจะใส่แล้วมีเหงื่อออกทั้งวัน หลังถอดออกก็ไม่ได้มีอาการคัน หรือแดงแสบแต่อย่างใด สายรัดที่ให้มาในชุดก็ทำหน้าที่ได้ดี รัดแน่นตลอดทั้งวัน มีระดับให้ปรับตามขนาดข้อมือได้ค่อนข้างหลากหลาย
ข้อมูลเชิงเทคนิค / สเปคของ Fitbit Versa
- จอ LCD สีแบบสัมผัสขนาดประมาณ 0.95″ x 0.95″
- แบตเตอรี่ li-polymer ใช้งานได้ประมาณ 4 วัน
- กันน้ำได้ลึกสุด 50 เมตร สามารถใส่ว่ายน้ำ ตากฝน อาบน้ำได้
- ตัวเรือนทำจากอลูมิเนียม สายผ้าทำมาจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์
- มีเซ็นเซอร์ accelerometer 3 แกน ไจโรสโคป 3 แกน
- เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เซ็นเซอร์วัด SpO2
- เซ็นเซอร์วัดระดับความสูง (altimeter)
- เซ็นเซอร์วัดแสง
- มีมอเตอร์สั่นภายใน
- ไม่มี GPS ในตัว
- รองรับการเชื่อมต่อ WiFi มาตรฐาน 802.11 b/g/n และ Bluetooth 4.0 ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับหูฟัง Bluetooth ได้โดยตรง
- มี NFC (เฉพาะรุ่น Special Edition)
- หน่วยความจำในเครื่องเหลือให้ใช้ประมาณ 2.5 GB
- รองรับการใช้งานร่วมกับทั้ง iOS, Android, Windows และ MacOS
ความสามารถของ Fitbit Versa
หลังจากได้รับข้อมูลเกี่ยวกับดีไซน์และสเปคของ Fitbit Versa ไปแล้ว คราวนี้มาเป็นด้านความสามารถกันบ้าง โดยผมขอแบ่งฟีเจอร์ออกเป็น 3 กลุ่มนะครับ ได้แก่
- ฟีเจอร์สำหรับการใช้งานแบบสมาร์ทวอทช์ทั่วไป
- ฟีเจอร์สำหรับการใช้งานเพื่อความบันเทิง
- ฟีเจอร์ด้านสุขภาพ
มาดูกันไปทีละกลุ่มเลยแล้วกัน สำหรับกลุ่มแรกก็คือฟีเจอร์สำหรับการใช้งานสมาร์ทวอทช์ทั่วไป ซึ่งเจ้า Fitbit Versa ก็มีมาค่อนข้างครบครันเลย
ฟีเจอร์สำหรับการใช้งานแบบสมาร์ทวอทช์ทั่วไป
- การแสดงข้อมูลสภาพอากาศจากในมือถือมาให้ตรวจสอบได้ง่ายๆ บน Versa
- การปรับเปลี่ยนหน้าตาของหน้าปัด และการดาวน์โหลดแอปเสริม ผ่านทางแอปพลิเคชัน Fitbit ในมือถือ
- การตั้งนาฬิกาปลุก
- การปรับแต่งการทำงานเบื้องต้น เช่น ความสว่างหน้าจอ การสั่น ฟีเจอร์การวัดชีพจรตลอดเวลา
- ระบบแสดงการแจ้งเตือนที่ซิงค์มาจากมือถือแบบ realtime ซึ่งผู้ใช้สามารถกดตอบข้อความเป็นภาษาอังกฤษอย่างรวดเร็วจากตัวเลือกข้อความที่ตั้งค่าไว้ได้เลย (ใช้ได้เฉพาะบน Android)
สำหรับการแสดงข้อความบนหน้าจอของ Fitbit Versa เท่าที่ผมทดสอบมาพบว่าไม่สามารถแสดงภาษาไทยได้เลย ส่วนภาษาอังกฤษกับภาษาญี่ปุ่นสามารถใช้งานได้อย่างราบรื่นมากๆ
โดยในการใช้งาน Fitbit Versa นั้น สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนผ่านทางแอปตัวกลางชื่อว่า Fitbit ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีจากทั้งใน App Store และ Play Store เลยครับ หากยังไม่เคยใช้งานมาก่อน ผู้ใช้ก็จะต้องสมัครบัญชีผู้ใช้งาน Fitbit เสียก่อน ซึ่งบัญชีนี้สามารถนำไปล็อกอินในมือถือเครื่องอื่นเพื่อซิงค์ข้อมูลข้ามกันไปมาได้เลย แต่ถ้าหากมีบัญชีอยู่แล้ว ก็สามารถล็อกอินเข้าใช้งานได้เลย เมื่อเข้ามาแล้วก็ให้ทำการจับคู่เข้ากับ Versa ได้ทันทีผ่านทาง Bluetooth เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบก็จะให้เราตั้งค่าอีกนิดหน่อย เช่น ให้เราตั้งค่าได้ว่าจะให้ส่งซิงค์การแจ้งเตือนจากแอปไหนในมือถือ ให้มันมาสั่นและแสดงข้อความใน Versa บ้าง ตั้งค่าการสั่น เป็นต้น
เมื่อเข้ามาหน้า dashboard ของ Versa ในแอป Fitbit ได้แล้ว ก็จะเจอเมนูต่างๆ ให้ใช้งานได้ทันที โดยเมนูที่น่าสนใจก็เช่น Clock Faces และ Apps ที่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าไปดาวน์โหลดรูปแบบหน้าปัดนาฬิกา และแอปเสริมการทำงานจากใน store ของ Fitbit ได้เลย ซึ่งรูปแบบการใช้งาน การจัดหมวดหมู่ การแสดงผลใน store นั้น ถ้าใครเคยใช้ Pebble มาก่อนจะสัมผัสได้ทันทีเลยว่ามันคือรูปแบบเดียวกันแทบจะ 100% เลย มีหน้ารวมสำหรับจัดการแอปที่ติดตั้งอยู่ในเครื่องด้วยเหมือนกัน ซึ่งจำนวนของรูปแบบหน้าปัดและแอป ก็จัดว่าอยู่ในระดับที่โอเค มีความหลากหลายพอสมควร ฝั่งแอปก็จะมีทั้งแอปอำนวยความสะดวก แอปแจ้งข้อมูล ไปจนถึงเกมเล็กๆ เลยก็มี
แต่มีจุดที่ผมพบว่ามันดาวน์เกรดลงจากตอนสมัย Pebble ก็คือ Fitbit อนุญาตให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดรูปแบบหน้าปัดลงในเครื่องได้แค่ทีละแบบเท่านั้น ไม่สามารถโหลดมาดองๆ ไว้ในเครื่องเผื่อเวลาที่ต้องการเปลี่ยนได้ ทำให้ถ้าหากต้องการเปลี่ยนรูปแบบหน้าปัด ผู้ใช้จะต้องต่อเน็ต เปิดแอป เข้า store หาหน้าปัดที่ชอบ แล้วก็โหลด ที่สำคัญคือ มันไม่มีเก็บประวัติของหน้าปัดที่เราเคยโหลดเอาไว้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีเมนู Wallet มาให้ด้วย ก็เพราะว่า Fitbit Versa รองรับการจ่ายเงินผ่าน NFC ด้วยระบบ Fitbit Pay ครับ ซึ่งก็คงต้องดูกันอีกทีว่าจะสามารถใช้งานในไทยได้หรือไม่ ส่วนเมนู Media จะเอาไว้สำหรับจัดการเพลงใน Versa ซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ การจัดการเพลงที่มาจากแอป Deezer กับการลบเพลงที่โหลดมาลงใน Versa โดยตรง
ฟีเจอร์สำหรับการใช้งานด้านความบันเทิง
พูดถึงเพลง ตัวของ Fitbit Versa รองรับการใส่ไฟล์เพลงลงในเครื่องโดยตรง และสามารถฟังได้โดยผ่านการเชื่อมต่อหูฟัง Bluetooth เข้ากับ Versa โดยไม่ต้องผ่านมือถือ ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์การออกกำลังกายของผู้ใช้สมัยนี้ ที่มักหาหูฟัง Bluetooth มาใช้งาน โดยวิธีการนำเพลงเข้ามาใน Versa อาจจะไม่ค่อยสะดวกกับผู้ที่ใช้งานมือถือเป็นหลักซักนิดนึง เพราะระบบบังคับว่าต้องซิงค์เพลงเข้ามาผ่านแอป Fitbit Connect ในคอมพิวเตอร์เท่านั้น โดยรับส่งข้อมูลแบบไร้สายผ่าน WiFi ซึ่งจากที่ผมทดลอง พบว่ามันใช้เวลาในการซิงค์ค่อนข้างนานพอสมควร แนะนำว่าสั่งซิงค์เพลงไว้ แล้วคุณก็สามารถหาอะไรทำรอได้เลยครับ สำหรับไฟล์เพลงที่รองรับ ก็เน้นไปที่ MP3 เป็นหลักครับ
ส่วนเวลาจะฟังเพลง ก็ให้จัดการจับคู่ Versa เข้ากับหูฟัง Bluetooth ก่อน จากนั้นก็สามารถกดสั่งเล่นเพลงจากใน Versa ได้เลย นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถใช้ Versa เป็นอุปกรณ์ควบคุมการเล่นเพลง ในกรณีที่เป็นการฟังเพลงจากมือถือได้ด้วย แต่สำหรับมือถือ Android ก่อนจะใช้งานฟังก์ชันนี้ได้ ผู้ใช้ต้องไปปรับโหมด Bluetooth ใน Versa ให้รองรับการ pair ในโหมด classic ก่อน (จะมีอุปกรณ์ Bluetooth ชื่อ Versa Classic เพิ่มขึ้นมาในเครื่องด้วย) จึงจะสามารถใช้งานได้ ซึ่งขั้นตอนการตั้งค่าก็จะสับสนนิดหน่อย เพราะตามปกติแล้วมันน่าจะสามารถใช้งานได้เลยซะมากกว่า
ฟีเจอร์ด้านสุขภาพ
เริ่มต้นที่ส่วนของแอป Fitbit ในมือถือก่อนเลยครับ โดยเปิดมาก็จะพบกับ dashboard ที่แสดงข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการซิงค์กับ Versa หรืออุปกรณ์อื่นๆ ของ Fitbit ที่ใช้งานอยู่ โดยจะมีข้อมูลต่างๆ ของวันนั้น เช่น จำนวนก้าวเดิน ระยะทางที่เคลื่อนที่ทั้งหมด ระดับชั้นความสูง แคลอรี่ที่เผาผลาญได้ ระยะเวลาในการนอนหลับ อัตราชีพจร ปริมาณน้ำที่ดื่มไปแล้ว (ต้องกรอกข้อมูลเอง) ซึ่งแต่ละส่วนก็สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม และข้อมูลย้อนหลังได้ โดยสามารถแสดงได้ละเอียดถึงระดับแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวันเลยทีเดียว
ส่วนภาพที่ 4 ก็คือตัวแสดงข้อมูลว่าผมเองมีการเดินอย่างต่ำชั่วโมงละ 250 ก้าวหรือไม่ โดยมันจะมีการแจ้งเตือนเมื่อใกล้จะครบรอบหนึ่งชั่วโมง ว่าผมยังต้องเดินอีกกี่ก้าว ถึงจะครบตามเป้าหมาย 250 ก้าว/ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ใช้ไม่ได้นั่งทำงานอยู่กับที่นานๆ นั่นเอง
ส่วนภาพที่ 5 คือกราฟแสดงคุณภาพการนอนหลับของผู้ใช้งาน โดยจะมีการตรวจจับได้เลยว่าสถานะการนอนหลับในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร หลับลึก หลับตื้น REM ได้ที่ขนาดไหนบ้าง ซึ่งผู้ใช้ก็สามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปวิเคราะห์สุขภาพของตนเองคร่าวๆ ได้เลยทีเดียว
ต่อมาก็เป็นเรื่องอัตราการเต้นของหัวใจ หากคุณใส่ Versa ติดตัวไว้ตลอด และเปิดให้มีการจับชีพจรตลอดเวลา ระบบก็จะแอบเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน (มีการแสดงผลข้อมูลล่าสุดบนหน้าปัดนาฬิกา หากรูปแบบหน้าปัดนั้นถูกออกแบบให้แสดงค่าชีพจรด้วย)
อีกสองฟีเจอร์ที่น่าสนใจสำหรับคนชอบความท้าทาย หรือต้องการหาแรงบันดาลใจ หาเพื่อนในการออกกำลังกายก็คือ Challenges และ Guidance โดยตัวของ Challenges จะเป็นการรวบรวมกิจกรรมออกกำลังกายยอดนิยม ซึ่งให้ผู้ใช้สามารถกดชวนเพื่อนมาร่วมได้ทันที มี achievement ด้านการออกกำลังกายมาให้ปลดล็อค เป็นต้น
ส่วนของ Guidance จะเป็นเสมือนโค้ชแนะนำการออกกำลังกายให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้ เช่นหากวันนี้ต้องการเล่นหนัก ก็สามารถเลือกโปรแกรม Body Blitz ซึ่งระบบก็จะให้ผู้ใช้ไปโหลดแอป Fitbit Coach มาเพิ่ม เพื่อช่วยแนะนำ ฝึกสอนการออกกำลังกายได้เสมือนมีโค้ชมาอยู่ข้างๆ เลย นอกจากนี้
ทั้งยังมีระบบโค้ชที่ช่วยแนะนำการออกกำลังกายแบบเป็น step เช่น หากคุณเลือกอยากออกกำลังเป็นช่วงสั้นๆ 10 นาที ก็จะมีข้อมูลขึ้นมาบอกว่าคุณควรออกกำลังในรูปแบบใดบ้าง กี่ครั้ง กี่นาที รวมถึงยังมีตัวอย่างการทำท่าที่ถูกต้องให้ดูด้วย จัดว่าเป็นฟังก์ชันที่มีประโยชน์มากเลยทีเดียว
สรุป
รวมๆ แล้ว Fitbit Versa นับเป็นสมาร์ทวอทช์สายสุขภาพที่มีความลงตัวทั้งในแง่ของการเป็นสมาร์ทวอทช์ การเป็นอุปกรณ์เสริมการออกกำลังกาย และความสวยงามในแบบของแฟชัน ทั้งยังมาพร้อมฟังก์ชันเสริมที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Fitbit Pay (แม้จะยังใช้งานในไทยไม่ได้ก็ตาม) รวมถึงความสามารถในการใช้งานแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ราวๆ 4 วัน จึงน่าจะเป็นหนึ่งในสมาร์ทวอทช์ที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มองหาอุปกรณ์ในกลุ่มนี้อยู่ ซึ่งส่วนตัวผมเองมองว่ามันเป็นเสมือน Apple Watch ในฝั่งที่สามารถใช้งานร่วมกับมือถือ Android ได้เลยทีเดียว
ราคาเริ่มต้น Fitbit Versa: 8,490 บาท