ใกล้เข้ามาทุกทีกับการวางจำหน่าย iPhone รุ่นใหม่ล่าสุดในปี 2018 ได้แก่ iPhone XS, iPhone XS Max และ iPhone XR ในประเทศไทย มีข่าวลือว่าจะเปิดขายในวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคมที่จะถึงนี้ ผ่านตัวแทนจำหน่ายของ Apple รวมถึงวางจำหน่ายบน Apple Online Store อีกด้วย
โดยปกติแล้ว iPhone ในประเทศไทย จะแบ่งวิธีการจำหน่ายออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่
- ซื้อเครื่องเปล่า
- ซื้อเครื่อง พร้อมสมัครแพ็กเกจ + เซ็นสัญญา เพื่อรับส่วนลดค่าเครื่อง
ทีนี้ก็เลยเป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกของคนที่กำลังจะซื้อ iPhone XS, XS Max, iPhone XR อันที่จริงต้องบอกว่าเป็นปัญหาสุดคลาสสิคของคนที่จะซื้อ iPhone ตลอดกาลก็ว่าได้ครับ สุดท้ายแล้ว การซื้อ iPhone แบบไหนจะดีกว่ากันล่ะ?
*ข้อมูลในบทความนี้ ผมอิงจาก iPhone รุ่นก่อนหน้า ได้แก่ iPhone X เมื่อปี 2017 ครับ
ส่วนตัวผมเองเคยซื้อ iPhone ทั้งแบบเครื่องเปล่า และเครื่องติดสัญญากับโอเปอร์เรเตอร์ ซึ่งการซื้อทั้ง 2 แบบก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าให้เลือกในปี 2018 เนี่ย ผมว่าการซื้อ iPhone XS, XS Max, XR เครื่องเปล่า ไม่ติดสัญญา ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
สำหรับเหตุผลที่ผมมองว่าการซื้อ iPhone XS, iPhone XR เครื่องเปล่า ดีกว่าการซื้อเครื่องติดโปร ฯ มีด้วยกันดังนี้
1. ในวันรับเครื่อง รวม ๆ แล้ว มีค่าใช้จ่ายต่างกันไม่เท่าไหร่
ซื้อ iPhone XS ที่ xxx รับส่วนลดค่าเครื่องสูงสุด 10,000 บาท!! นี่จะเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าตอน iPhone XS วางจำหน่ายกับบรรดาโอเปอเรเตอร์ทั้งหลาย ข้อความในลักษณะนี้จะถูกใช้เป็นข้อความหลักในการโฆษณา แต่ในความเป็นจริงแล้ว การซื้อเครื่องแบบติดสัญญาเช่นนี้ ค่าใช้จ่ายตอนรับเครื่อง จะไม่ใช่เอาค่าเครื่องลบ 10,000 บาทตรง ๆ
โดยส่วนมาก เงื่อนไขของ iPhone เครื่องติดโปร คือลดค่าเครื่อง แลกกับการสมัครแพ็กเกจรายเดือนตามที่กำหนด พร้อมกับจ่ายค่าบริการล่วงหน้าส่วนหนึ่ง ตามที่ค่ายมือถือกำหนด ยิ่งลดค่าเครื่องมาก ก็ยิ่งต้องจ่ายโปรรายเดือนแพง
ข้อมูลของปี 2017 ตอนที่ iPhone X วางจำหน่าย ผมยกตัวอย่างโปรของ TrueMove H ที่ให้ส่วนลดค่าเครื่องสูงถึง 9,000 บาท แต่ก็มีการจ่ายค่าบริการรายเดือนล่วงหน้าอยู่ที่ 5,000 บาท (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)
เท่ากับว่า ในวันรับเครื่อง (iPhone X 64 GB ราคาเปิดตัว 41,500 บาท) ไม่ว่าจะซื้อด้วยเงินสด หรือเตรียมบัตรเครดิตไปรูดก็ตาม จะต้องใช้เงินทั้งหมด 37,850 บาท แบ่งเป็นค่าเครื่องที่ลดแล้ว 32,500 บาท กับค่ารายเดือนล่วงหน่า 5,350 บาท (5,000 + vat 7%) เท่ากับว่าส่วนต่างในวันรับเครื่องอยู่ที่ 3,650 บาทเท่านั้น
จำตัวเลข 3,650 บาทไว้ในใจก่อนนะครับ ผมแทรกด้วยสาเหตุที่ 2 ก่อน
2. แพ็กเกจราคาแพง และให้มามากเกินความจำเป็น
อย่างที่ผมได้บอกไปว่า ส่วนลดค่าเครื่องจะลดเยอะ ก็ต่อเมื่อสมัครแพ็กเกจรายเดือนราคาสูง ในเคสที่ลดค่าเครื่อง 9,000 บาท เมื่อตอน iPhone X นั้น แพ็กเกจที่บังคับคือเริ่มต้นเดือนละ 1,299 บาทนะครับ สูงกว่าค่าบริการโทรศัพท์โดยเฉลี่ยของคนทั่วไปมากกว่า 2 เท่าเสียอีก
สิ่งที่จะได้ในแพ็กเกจรายเดือน 1,299 บาท ได้แก่ ค่าโทร 850 นาที, ได้อินเทอร์เน็ต 4G ไม่จำกัดปริมาณ (ใช้ 3G ได้ 20 GB) ผมเชื่อว่าหลายคนใช้ดาต้า รวมค่าโทรไม่สูงขนาดนี้แน่นอนครับ เท่ากับว่าเราโดนบังคับใช้จ่ายค่าบริการรายเดือนแพงกว่าที่ควรจะเป็นเสียแล้ว
กรณีนี้จะถูกตีตกไป เมื่อคุณสามารถเบิกค่าโทรศัพท์รายเดือนกับทางบริษัทได้ครับ บางคนอาจได้เดือนละ 1,000 บาท ก็จ่ายเองไม่มาก ก็ถือว่าคุ้มอยู่ แต่จะมีบางกรณีที่ต้องใช้ใบเสร็จในการเบิก อาจจะเบิกไม่ได้เต็มเดือน เพราะค่าบริการมันจะเป็นยอดที่หักจากการจ่ายล่วงหน้าไปแล้ว
สมมุติเบิกได้ 1,000 บาท แต่แพ็กเกจ 1,299 เมื่อหักส่วนลดแล้วเหลือ 799 บาท สุดท้ายที่จ่ายล่วงหน้าไปเฉลี่ยเดือนละ 500 บาท ก็คือต้องออกเองนะครับ
3. เราอยู่ในยุคที่ ค่าโทรศัพท์ต่อเดือน ไม่ต้องจ่ายแพงขนาดนั้น
ค่าเฉลี่ยของการใช้โทรศัพท์มือถือในประเทศไทย ต่อเดือนจะอยู่ที่ 499 บาท และเท่าที่ผมสังเกตแพ็กเกจรายเดือนในช่วงหลังมานี้ จะยิ่งมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ จากการแข่งขันอันดุเดือด นี่ยังไม่นับโปรลับที่บรรดาค่ายต่าง ๆ มอบให้กับลูกค้าที่จะย้ายค่ายหนีอีกนะครับ
อย่างแพ็กเกจรายเดือนที่ผมใช้ ณ ตอนนี้เนี่ย ก็ถือเป็นโปรลับเช่นกัน จ่ายเดือนละ 450 บาท ค่าโทร 400 นาที ได้อินเทอร์เน็ต 30 GB แต่มี on-top ให้อีก 5 GB + 5 GB จากการที่ผมจะย้ายไปค่ายอื่น ค่ายเดิมเลยเสนออินเทอร์เน็ตเพิ่มให้ และถ้าจ่ายบิลตรงเวลา ได้เน็ตอีก 2 GB เท่ากับว่าผมได้ใช้ 4G แบบไม่ลดสปีดต่อเดือน 42 GB
อินเทอร์เน็ต 42 GB ต่อเดือนของผมหมดไปกับการดู Youtube ทุกวัน เวลาเดินทางไป – กลับบ้าน เฉลี่ยก็วันละ 3 ชั่วโมง โดยที่หมดเดือนแล้วเน็ตก็ยังไม่เคยหมดสักที สำคัญคือทุกคนมีสิทธิ์ได้โปรลับ เพราะตอนที่ผมได้โปรนี้ ก็ไม่ได้ประกาศว่าตัวเองเป็น Blogger ด้วยซ้ำ
หรือถ้าไม่ได้ใช้งานดาต้าเยอะขนาดนั้น แพ็กเกจประมาณ 300 – 400 บาท ก็ตอบโจทย์การใช้งานแล้ว ไหนจะมีทางเลือกอย่างซิมเติมเงิน หรือซิมเทพ, ซิมลูกเทพอินเทอร์เน็ตไม่อั้นที่นับวันก็จะยิ่งมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ อีก
การยอมรับส่วนลดเพียงเล็กน้อย แลกกับการเสียค่าบริการรายเดือนสูงระดับหลักพัน ส่วนตัวผมเลยมองว่าไม่ค่อยคุ้มค่าสักเท่าไหร่
4. เพราะการซื้อเครื่องติดโปร อาจจะไม่ได้ลดราคาให้จริง ๆ
ยังจำตัวเลข 3,650 บาทที่ผมให้ทดไว้ในใจได้อยู่ไหมครับ นั่นคือส่วนต่างที่การซื้อเครื่องแบบติดโปร ถูกกว่าซื้อเครื่องเปล่า (กรณีของ iPhone X เมื่อปีที่แล้ว) ทีนี้ผมจะคำนวณคร่าว ๆ ให้ว่า หลังจากที่ได้เครื่องมาแล้ว หากต้องรวมค่าแพ็กเกจรายเดือนที่ต้องจ่ายเพิ่มไปอีก สรุปแล้ว ค่าใช้จ่ายรวม ๆ จะอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่
iPhone X 64 GB ลดค่าเครื่อง 9,000 บาท จ่ายล่วงหน้า 5,350 บาท (คืนส่วนลด 10 เดือน) สมัครแพ็กเกจเดือนละ 1,299 บาท (1,390 บาทรวมภาษี) ระยะสัญญา 12 เดือน* เท่ากับว่าต้องจ่ายค่าบริการโทรศัพท์ทั้งหมด ดังนี้
- รายเดือน 1,390 บาท 10 เดือนแรก จ่ายเดือนละ 855 บาท = 8,550 บาท
- อีก 2 เดือนสุดท้าย จ่ายเต็ม 1,390 x 2 = 2,780 บาท
- รวมค่าแพ็กเกจรายเดือนจนหมดสัญญา = 11,330 บาท
เมื่อรวมกับค่าเครื่อง iPhone X 64 GB ที่ลดแล้ว สรุปเมื่อครบปี ค่าใช้จ่ายจะเท่ากับ 49,180 บาท หรือเป็นเงินเกือบ 50,000 บาทเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับการซื้อเครื่องเปล่า ไม่ติดสัญญาในราคาเริ่มต้น 41,500 บาท
ในทางกลับกัน ผมใช้แพ็กเกจเดิมของตัวเอง เดือนละ 450 บาท รวมค่าภาษีก็จะตกเดือนละ 481.50 บาท ต่อปีก็ 5,778 บาท รวมค่าเครื่องเปล่า 41,500 บาท สรุปแล้ว ผ่านไป 1 ปี ราคาอยู่ที่ 47,278 บาท แต่ได้ความสบายใจตรงที่ จะย้ายค่ายตอนไหนก็ได้ เปลี่ยนโปรอะไรก็ได้ ไม่มีสัญญามาผูกมัด
อีกเรื่องที่คนซื้อเครื่องติดโปรต้องรู้ก็คือ หากต้องการยกเลิกเบอร์, ย้ายค่าย หรือเปลี่ยนโปรระหว่างติดสัญญา สามารถทำได้เช่นกันครับ แต่จะต้องจ่ายส่วนลดคืนให้กับทางโอเปอเรเตอร์ด้วย เช่น ลด 9,000 บาท ก็ต้องจ่ายคืน 9,000 บาท ถึงจะฉีกสัญญาได้
*มีบางโปรโมชันติดสัญญา 18 เดือน หรือนานกว่านั้น แต่ขั้นต่ำมักจะ 12 เดือน
5. iPhone เครื่องเปล่า เดี๋ยวนี้ก็มีโปรลดราคาเหมือนกัน!
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสามปีก่อน มีคนมาถามว่า ซื้อ iPhone เครื่องเปล่า หรือติดโปรดี ผมก็คงยืนยันว่าการซื้อเครื่องติดโปรเหมาะสมกว่า แต่ไม่ใช่กับยุคนี้แล้ว ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนไป อย่างแรกเลยก็คือการรับประกันเครื่อง iPhone ที่เปลี่ยนมาเป็นประกันแบบ Worldwide ซื้อที่ไหนก็เคลมกับ AASP หรือศูนย์ของทาง Apple โดยตรง
ในปีที่แล้ว ตอนที่ขาย iPhone X, iPhone 8 ได้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกอย่าง ตรงที่ Apple ได้เปิดให้มีตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการเพิ่มขึ้น จากที่เมื่อก่อนสงวนให้ขายเฉพาะโอเปอเรเตอร์เท่านั้น การหาซื้อเครื่องเปล่าทำได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่อก่อน จะซื้อ iPhone ต้องโดนบังคับเปิดเบอร์ (แล้วก็ขายราคาเต็ม)
ผมจำได้ว่าวันแรกที่ iPhone X วางจำหน่าย เห็นมีคนไปต่อแถวรอซื้อเครื่องที่ BTS Skywalk ชิดลม ตรงทางเชื่อมเข้าไปห้าง Central World เหมือนจะต่อคิวรอซื้อกับทาง Power Buy ที่เป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของ Apple (Thailand) ไหนจะตัวแทนจำหน่ายเจ้าอื่นอย่าง BananaStore ก็มีต่อแถวซื้อเครื่องวันแรกที่ The EmQuartier หรือแม้แต่ iStudio* / Studio 7 ช่วงหลังมานี้ก็วางจำหน่ายเครื่องเปล่าเช่นกัน
*iStudio มีขายทั้งเครื่องเปล่าและติดสัญญา แนะนำให้สอบถามกับทางพนักงานก่อนครับ บางทีเครื่องเปล่าหมด เหลือแต่เครื่องที่บังคับเปิดเบอร์ก็มี
พอมีตัวแทนจำหน่ายเพิ่มขึ้น ไม่ได้ไปกระจุกอยู่แค่ที่โอเปอเรเตอร์ การแข่งขันก็เลยสูงขึ้นไปโดยปริยาย โปรโมชันส่วนลดจึงไม่ได้มีแค่การซื้อเครื่อง + ติดสัญญาเพียงอย่างเดียว อย่างปีที่แล้ว แม้จะเป็นการขายเครื่องในล็อตแรก ๆ ก็มีโปรโมชันทั้ง On top รับส่วนลด, Cash back เครดิตเงินคืน หรือแม้แต่ส่วนลดให้สมาชิก ที่ลดกันดื้อ ๆ เลยก็มีเช่นกัน
ด้านการผ่อนชำระค่าเครื่องแบบ 0% ที่ผ่านมา มักจะเป็นโปรที่ขึ้นกับทางบัตรเครดิตเป็นส่วนใหญ่ คือขอให้เป็น iPhone เถอะครับ หาผ่อน 0% 10 เดือนได้แทบจะทุกบัตรอยู่แล้ว ไม่ว่าจะซื้อเครื่องเปล่า หรือซื้อเครื่องติดสัญญาก็ตาม บางบัตรผ่อนได้ 0% 20 เดือนก็ยังมีให้เลือกกันตามสะดวก
อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อ iPhone ว่าจะซื้อเครื่องเปล่า หรือซื้อแบบติดโปร ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก ถ้าเป็นคนที่ใช้ค่าโทรศัพท์รายเดือนสูงอยู่แล้ว ใช้ดาต้าเยอะ โทรเยอะ การซื้อเครื่องแบบติดโปรก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ถ้ามองในมุมของคนส่วนมาก ใช้งานทั่วไป เบิกค่าโทรศัพท์รายเดือนไม่ได้ และมีแพ็กเกจรายเดือนที่ดีอยู่แล้ว ผมว่าการซื้อ iPhone เครื่องเปล่าในยุคนี้ ดีกว่าการซื้อเครื่องติดสัญญาอย่างเห็นได้ชัด