หากเอ่ยถึง OPPO เชื่อว่าหลายคนก็คงนึกถึงความเป็นแบรนด์สมาร์ทโฟน แต่ในช่วงหลังมานี้ OPPO เองก็ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์อื่น ๆ นอกจากโทรศัพท์ให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในช่วงแรกก็จะเป็นพวกหูฟังไร้สาย ล่าสุดก็ถึงเวลาของ Smartwatch รุ่นแรกของแบรนด์ และสามารถเลื่อนลงไปอ่านรีวิว OPPO Watch 46mm ในบทความนี้ได้เลยครับ
เปรียบเทียบ OPPO Watch 41mm และ OPPO Watch 46mm แตกต่างกันอย่างไร
OPPO Watch 41mm (Wi-Fi) | OPPO Watch 46mm (Wi-Fi) | |
ขนาด | 41mm | 46mm |
สีที่วางจำหน่าย | Pink Gold, Black | Black |
หน้าจอ | Flat rectangular | จอโค้ง 3D Flexible Dual – Curved Display |
วัสดุตัวเรือน | 6000-series aluminum alloy | 6000-series aluminum alloy |
ตัวเรือนด้านหลัง | Plastic | Plastic + ceramic |
วัสดุสายนาฬิกา | Fluororubber | Fluororubber |
ขนาดหน้าจอ | 1.6-inch rectangular rigid AMOLED screen 65.22% screen-to-body ratio 320×360 / 301 ppi | 1.91-inch rectangular 3D flexible AMOLED screen 72.76% screen-to-body ratio 402×476 / 326 ppi |
แบตเตอรี่ | 300mAh (typical)/289mAh (rated) 5V 1A | 430mAh (typical)/416mAh (rated) 5V 1.5A |
เทคโนโลยีการชาร์จไฟ | Watch VOOC Flash Charging 75-min charging time | Watch VOOC Flash Charging 75-min charging time |
ระยะเวลาในการใช้งาน : Smart mode (ใช้งานทั่วไป) | นานสูงสุด 24 ชม. | นานสูงสุด 36 ชม. |
ระยะเวลาในการใช้งาน : Power Saver mode (โหมดประหยัดพลังงาน) | นานสูงสุด 14 วัน | นานสูงสุด 21 วัน |
คุณสมบัติในการกันน้ำ | 3ATM | 5ATM |
Cellular | N/A | N/A |
ความจุในตัวเครื่อง | RAM 1 + ROM 8GB | RAM 1 + ROM 8GB |
อุปกรณ์ในกล่องของ OPPO Watch ให้มาคล้ายกับสมาร์ทวอทช์ปกติทั่วไปเลยครับ มีตัวเรือน OPPO Watch 46mm สีดำ, สาย Fluororubber สีดำ, แท่นชาร์จ Watch VOOC Flash Charging และคู่มือ ไม่ได้แถมตัวอะแดปเตอร์มาให้ แต่สามารถใช้อะแดปเตอร์ USB ของสมาร์ทโฟน OPPO ชาร์จไฟได้เลย ตัวแท่นชาร์จรองรับการชาร์จที่ 5V: 1.5A เพราะฉะนั้นอะแดปเตอร์ 10W ก็ชาร์จได้สบาย ๆ ครับ
เมื่อเปิดกล่องก็จะพบกับ OPPO Watch 46mm ติดตั้งสายนาฬิกาพร้อมใช้งาน โดยตัวสายสามารถถอดเปลี่ยนได้ง่ายมาก เพียงแค่พลิกไปด้านหลังตัวเรือน กดที่ปุ่มด้านบนและด้านล่าง สลักที่ล็อกสายนาฬิกาก็จะถูกปลดออกในทันที ส่วนการใส่สายนาฬิกาเข้าไปใหม่ ก็แค่ใส่เข้าไปตรง ๆ เลยครับ ตรงนี้ถือว่า OPPO ทำการบ้านมาดีทีเดียว เป็นสมาร์ทวอทช์ที่ถอดเปลี่ยนสายได้ง่ายมาก
รายละเอียดของตัวเรือน OPPO Watch 46mm หากมองผิวเผิน จะเห็นว่าตัวเรือนเป็นทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้าลงรายละเอียดไปที่บริเวณด้านข้างทั้ง 2 ด้าน จะพบว่าหน้าจอมีความโค้งมากกว่าปกติมาก ๆ และถือเป็นครั้งแรกในโลกเลยก็ว่าได้ ที่มีสมาร์ทวอทช์หน้าจอโค้งเช่นนี้ โดย OPPO เรียกชื่อหน้าจอแบบนี้ว่า 3D flexible dual-curved display ระดับความโค้งให้นึกถึงสมาร์ทโฟนหน้าจอ Curved Screen หรือหน้าจอของ OPPO Find X2 Pro นั่นล่ะครับ
หน้าจอของ OPPO Watch 46mm นี่ถือเป็นจุดเด่นของสมาร์ทวอทช์รุ่นนี้เลยก็ว่าได้ เพราะโดยปกติพวก Smartwatch ที่ราคาไม่เกิน 10,000 บาท มักจะมาพร้อมหน้าจอที่ไม่ค่อยละเอียดเท่าไหร่นัก อย่างมากความหนาแน่นของพิกเซลก็จะอยู่ที่ประมาณ 200 ppi บวกลบเล็กน้อย แต่สำหรับ OPPO Watch 46mm ที่มาพร้อมหน้าจอขนาดใหญ่ถึง 1.91 นิ้ว มีความหนาแน่นของพิกเซลสูงถึง 326 ppi จึงทำให้การแสดงผลมีความคมชัดมาก ๆ เทียบเท่ากับสมาร์ทโฟนหน้าจอ Full HD+
ด้านสีสันหน้าจอ เห็นเป็นนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ แต่รุ่นนี้หน้าจอแสดงสีได้ 100% DCI-P3 ส่วนเรื่องความสว่างหน้าจอ รุ่นนี้ทำได้ถึง 500 nits และเร่งแสงหน้าจอได้สูงสุดถึง 1000 nits นั่นหมายความว่า ต่อให้เป็นการใช้งานกลางแจ้ง ที่มีแดดจัด ๆ OPPO Watch ก็ยังคงแสดงผลได้ดี แบบไม่ต้องเอามือป้องหน้าจอเพื่อดูเวลาเลยครับ
วัสดุตัวเรือน OPPO Watch ในตอนแรกที่ผมทราบว่าจะต้องรีวิว OPPO Watch 46mm ก็แอบคิดอยู่ว่าจะมีปัญหาเรื่องวัสดุไม่แข็งแรง หรือเป็นพลาสติกแบบสมาร์ทวอทช์แบรนด์จีนหลาย ๆ รุ่นหรือเปล่า แต่เมื่อได้จับตัวเรือนจริงก็หายห่วงครับ OPPO เลือกใช้วัสดุหลักเป็นเฟรมอลูมิเนียมอัลลอยด์ ซีรี่ส์ 6000 ที่ทนต่อการกัดกร่อนได้ดี ทั้งยังมีความแข็งแรงในแบบฉบับของโลหะอีกด้วย
ด้านหลังตัวเรือน ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจ ที่นูนขึ้นมาจากตัวเรือนเล็กน้อย ส่วนจุด 4 จุดจะเป็นส่วนสำหรับการชาร์จไฟ วัสดุบริเวณด้านหลังตัวเรือน หากเป็นในรุ่นรีวิว OPPO Watch 46mm จะใช้วัสดุเป็นพลาสติก +เซรามิก ที่ให้ความทนทานมากกว่าพลาสติกเพียงอย่างเดียวแบบในรุ่น 41mm
ด้านการสวมใส่ OPPO Watch 46mm ส่วนตัวผมมองว่ารุ่นนี้เหมาะกับข้อมือของผู้ชายมากกว่า เนื่องจากมีขนาดตัวเรือนที่ถือว่าใหญ่มากรุ่นหนึ่ง หากเป็นผู้หญิง แนะนำเป็นรุ่น 41mm น่าจะเหมาะสมกว่า ส่วนเรื่องน้ำหนักก็พอ ๆ กับสมาร์ทวอทช์หลายรุ่นในท้องตลาด ไม่ได้เบา หรือหนักจนเกินไป
ตัวสายที่เป็นวัสดุ Fluororubber มีความนุ่มในระดับหนึ่ง การใส่ก็ไม่ยาก เพียงกดหมุดเข้ากับสายอีกฝั่ง จากนั้นล็อกด้วยสายรัดให้กระชับ เท่านี้ก็พร้อมใช้งาน OPPO Watch เรียบร้อย แต่แนะนำว่าตอนใส่ ก่อนที่จะรัดสายนาฬิกาอีกด้าน ให้ระวังหมุดหลุดด้วยนะครับ อาจเกิดความเสียหายกับนาฬิกาเนื่องจากตัวเรือนหล่นขณะกำลังใส่ได้เลย
สำหรับปุ่มควบคุม OPPO Watch 46mm มีเพียง 2 ปุ่มกดบริเวณด้านขวามือเท่านั้น โดยปุ่มบนทำหน้าที่คล้ายกับปุ่ม Home และปุ่มเข้าถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ในตัวนาฬิกา ถัดมาตรงรูเล็ก ๆ นั้นเป็นไมโครโฟนสำหรับสั่งการ Google Assistant และใช้สำหรับสนทนาโทรศัพท์ ตามมาด้วยปุ่มด้านล่าง ขอบเขียว ๆ จะเป็นปุ่มทางลัด ที่ผู้ใช้สามารถกำหนดค่าได้เอง แต่ค่าเริ่มต้นจะเป็นการกดเพื่อเข้าสู่การออกกำลังกายอย่างรวดเร็ว ส่วนฝั่งซ้ายเป็นลำโพงครับ
ข้อสังเกตของ OPPO Watch 46mm ในส่วนของการใช้งานที่ตัวเรือน ผมมองว่าการสั่นแจ้งเตือนเบาไปหน่อย บางทีแทบไม่รู้สึกถึงแรงสั่น เช่นเดียวกับเสียงลำโพงที่ผมมองว่าเบาไป ตอนใช้คุยโทรศัพท์อาจจะต้องเอาไว้ใกล้ ๆ หน้าสักหน่อย ถึงจะได้ยินเสียงสายสนทนา แต่ถ้าเป็นเรื่องการทัชสกรีน ความแม่นยำในการตอบสนองหน้าจอ ความลื่นไหลในการใช้งาน ตรงนี้ผมว่า OPPO ปรับแต่งมาได้ดีเยี่ยม ว่ากันตามตรง ส่วนตัวผมได้มีโอกาสทดสอบสมาร์ทวอทช์ที่เป็น Wear OS by Google มาก็พอสมควร ผมว่า OPPO Watch ลื่นไหลที่สุดแล้วล่ะครับ
ระบบปฏิบัติการ Wear OS by Google ใช้ดีไหม?
มาต่อกันที่ระบบปฏิบัติการของสมาร์ทวอทช์รุ่นนี้ OPPO เลือกใช้ Wear OS by Google แตกต่างจากผู้ผลิตนาฬิกาอัจฉริยะหลายเจ้า ที่เลือกใช้ระบบปฏิบัติการที่เขียนขึ้นมาเอง และตัว Wear OS เองก็ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่ยังไม่ได้รับความนิยมในฝั่งอุปกรณ์สวมใส่มากนัก บางแบรนด์นำไปใช้ในสมาร์ทวอทช์ก็เกิดความช้า ความหน่วงบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ผมอยู่เหมือนกัน ที่พอ OPPO นำ Wear OS By Google มาใช้แล้วปรับแต่งได้ดีขนาดนี้
ส่วนตัวผมมองว่าข้อดีของ Wear OS by Google คือตัวระบบปฏิบัติการมันแทบจะทำงานด้วยตัวเองแบบเดี่ยว ๆ ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพิ่มเติม ใช้โทรเข้าออก รับสาย โดยที่ไม่ต้องกดที่ตัวโทรศัพท์ รวมถึงฟังก์ชั่นต่าง ๆ ที่เหมือนมีโทรศัพท์จอเล็กอีกเครื่องก็ว่าได้ และยิ่ง OPPO Watch 46mm มีไมโครโฟนในตัว สามารถสั่งการ Google Assistant ได้ด้วยแล้ว บางทีอาจจะไม่ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาก็ยังได้เลยครับ
สำหรับการเชื่อมต่อ OPPO Watch รุ่นนี้รองรับการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟน Android ทุกยี่ห้อ รวมถึงเชื่อมต่อกับ iPhone ที่เป็นระบบปฏิบัติการ iOS ได้อย่างไม่มีปัญหา เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Wear OS by Google ลงในสมาร์ทโฟน จากนั้นเปิดการเชื่อมต่อ Bluetooth แล้วทำตามคำแนะนำในแอปพลิคชั่น ใช้เวลาไม่นานก็เชื่อมต่อพร้อมใช้งานครับ
แต่ถ้าจะปรับตั้งค่า OPPO Watch ให้ละเอียดขั้นสุด แนะนำให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นที่ชื่อว่า HeyTab Health มาใช้งานควบคู่กันไปด้วย เพราะในการปรับแต่งหน้าปัดนาฬิกา หากทำผ่าน HeyTab Health จะทำได้ละเอียดกว่ามาก โดยเฉพาะฟีเจอร์เด็ดอย่าง AI Outfit ที่ใช้ AI เข้ามาช่วยในการปรับแต่งหน้าปัดให้เข้ากับการแต่งกายได้โดยอัตโนมัติ
ด้านการใช้งานทั่วไป เรื่องการแจ้งเตือน การแสดงผลหน้าจอบนตัว OPPO Watch 46mm สามารถแสดงผลภาษาไทยได้สมบูรณ์ 100% ไม่มีปัญหาสระลอย รวมถึงไม่เจอเรื่องภาษาต่างดาวอีกด้วย ส่วนตัวผมตอนรีวิว OPPO Watch 46mm ก็ใช้อ่านแจ้งเตือนอีเมล์, แชทต่าง ๆ โดยที่ไม่ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ ตรงนี้เป็นความสะดวกอีกอย่างหนึ่งเมื่อใช้งานสมาร์ทวอทช์ และ OPPO Watch ก็ตอบโจทย์การใช้งานในส่วนนี้ได้เป็นอย่างดี
รีวิว OPPO Watch ในด้านสุขภาพ การออกกำลังกาย ทำอะไรได้บ้าง?
หนึ่งในฟีเจอร์สำคัญของนาฬิกาสมาร์ทวอทช์ นอกเหนือจากการเป็น 2nd screen ในการแสดงผลข้อความ การแจ้งเตือนต่าง ๆ ของสมาร์ทโฟนแล้ว อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่ไม่มีแล้วถือว่าผิด ก็คือในเรื่องของการดูแลสุขภาพ ไปจนถึงการออกกำลังกาย และ OPPO Watch ก็เป็นสมาร์ทวอทช์รุ่นหนึ่งที่ให้ฟีเจอร์ในส่วนนี้ ค่อนข้างที่จะตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ได้ดี
ตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
เรียกได้ว่าเป็นฟีเจอร์พื้นฐานของสมาร์ทวอทช์ เอาเข้าจริงพวกสมาร์ทแบนด์ราคาไม่ถึงพันบาท ปัจจุบันก็มีฟีเจอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจแล้ว แต่ก็เป็นแค่การวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ ยังไม่ถือว่าทำได้ดี และครอบคลุมการออกกำลังกายเหมือนกับ OPPO Watch ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ตลอดเวลา
การวัดอัตราการเต้นของหัวใจในพวกสมาร์ทแบนด์ราคาไม่แพง จะใช้การวัดตามเวลาที่กำหนด เช่น วัดทุก ๆ 5 นาที หรือ 10 นาที เป็นต้น เพื่อให้ประหยัดแบตเตอรี่ และไม่กินพลังในการประมวลผลมากนัก ทำให้ในการออกกำลังกายที่เฉพาะทาง หรือต้องคุมโซนอัตราการเต้นของหัวใจ (เช่น การวิ่ง Zone 2 เพื่อลดไขมัน หรือการทำ HIIT) ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากผู้ใช้ไม่ทราบอัตราการเต้นของหัวใจจริง ๆ ในขณะที่ออกกำลังกาย
แต่ใน OPPO Watch ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้แบบ real-time ทำให้การออกกำลังกายมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น จะวิ่ง หรือปั่นจักรยาน Zone 2 เพื่อลดไขมัน หรือเร่งไปที่ Zone 3 เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของร่างกาย ก็สามารถตรวจวัดด้วย OPPO Watch ได้ทันที อีกทั้งรูปแบบการออกกำลังกายที่หลากหลายมากกว่า 90 รูปแบบด้วย Google Fit จึงตอบโจทย์สายรักสุขภาพได้เป็นอย่างดี
ควบคุมการหายใจได้ดีขึ้น ลดความเครียดด้วย OPPO Watch
อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่น่าสนใจในเรื่องสุขภาพของ OPPO Watch ก็คือคำแนะนำในการหายใจเพื่อผ่อนคลายความเครียด โดยตัวนาฬิกาจะแจ้งเตือนให้ทำการหายใจตามจังหวะ ช่วยลดความเครียด รวมถึงช่วยเพิ่มสมาธิในการทำงาน และยังแจ้งเตือนในกรณีที่ผู้ใช้ไม่ได้ขยับตัวเป็นเวลานาน เพื่อป้องกัน Office Syndrome ได้อีกด้วย
ตรวจจับการนอน วันนี้คุณหลับได้คุณภาพขนาดไหน?
หนึ่งในฟีเจอร์ที่สมาร์ทวอทช์ที่ดีควรมี และก็มีใน OPPO Watch ก็คือความสามารถในการตรวจจับการนอน โดยที่ผู้ใช้ไม่ต้องทำอะไร นอกจากใส่ OPPO Watch ตอนนอนไว้เท่านั้น เมื่อตื่นเช้า ตัวนาฬิกาก็จะแสดงคุณภาพการนอน ทั้งระยะเวลาในการนอนว่าเป็นเวลากี่ชั่วโมง มีการหลับลึก หลับตื้น หรือมีการตื่นระหว่างการนอนมากน้อยเพียงใด
แม้สมาร์ทวอทช์ส่วนมากจะมาพร้อมความสามารถในการตรวจจับการนอน แต่หนึ่งในปัญหาใหญ่เลยก็คือ แบตเตอรี่ของสมาร์ทวอทช์ที่พอใส่นอนตอนกลางคืน พอใช้งานไปอีกวัน แบตเตอรี่อาจอยู่ได้ไม่ถึงตอนกลับบ้าน แต่ด้วยความที่ OPPO Watch มาพร้อมกับระบบชาร์จเร็ว Watch VOOC Flash Charging ที่ชาร์จไฟได้เร็ว ส่วนตัวผมเอง ใส่ OPPO Watch ตอนนอน แล้วพอตื่นเช้าก็จับนาฬิกาใส่แท่นชาร์จ พอลงไปอาบน้ำแต่งตัว กลับขึ้นมาบนห้อง แบตเตอรี่ของ OPPO Watch ก็เต็ม 100% พร้อมใช้งานแล้วครับ
ความสามารถอื่น ๆ ในการออกกำลังกาย
นอกจากโหมดการออกกำลังกายที่มากถึง 90 รูปแบบขึ้นไปใน Google Fit แล้วเนี่ย OPPO Watch ยังมาพร้อมกับ 5 โหมดออกกำลังกายยอดนิยม ที่เข้าถึงได้ง่ายมาก เพียงแค่กดปุ่มเขียว (ปุ่ม Multi-function) ที่ด้านข้างนาฬิกา ประกอบไปด้วย การวิ่งเพื่อเพิ่มสมรรถภาพทางกาย, การวิ่งเพื่อเผาผลาญไขมัน, การเดินกลางแจ้ง, การปั่นจักรยานกลางแจ้ง และการว่ายน้ำ ที่รุ่นนี้สามารถใส่ว่ายน้ำได้ด้วย เนื่องจาก OPPO Watch 46mm รองรับการกันน้ำที่ 5ATM หรือที่ความลึก 50 เมตร ส่วนรุ่นเล็ก 41mm จะรองรับที่ 3ATM เท่านั้น
ประสิทธิภาพ แบตเตอรี่ และการชาร์จไฟ
ข้อมูลทางเทคนิคของ OPPO Watch ระบุว่าสมาร์ทวอทช์รุ่นนี้ มาพร้อมกับระบบ Dual-Chip Endurance System ที่สามารถสลับโหมดการทำงานได้ 2 รูปแบบ โดยในโหมด Smart จะขับเคลื่อนด้วยชิปของทาง Qualcomm แต่ถ้าเป็นการใช้งานโหมดประหยัดพลังงาน จะเป็นการใช้ตัวชิป Apollo3 ทำให้ระยะการใช้งานยาวนานมากขึ้น
ด้านการใช้งาน การทัชสกรีนที่หน้าจอ รวมถึงการเข้าถึงแอปพลิเคชั่น และฟีเจอร์ต่าง ๆ ของ OPPO Watch ไม่ว่าจะเป็น Smart mode หรือ Power Saver mode ก็ล้วนให้การใช้งานที่ลื่นไหล จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือสมาร์ทวอทช์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Wear OS by Google
สำหรับการเข้าสลับโหมดใช้งานของ OPPO Watch ได้แก่ Smart mode และ Power Saver mode ก็ไม่ได้มีขั้นตอนที่ซับซ้อน เพียงกดปุ่มสีเขียว (Multi-function) ค้างไว้ 2 นาทีในโหมด Smart จากนั้นเลื่อนไปที่ โหมดประหยัดพลังงาน นาฬิกาจะทำการรีสตาร์ต และเปลี่ยนไปเป็น Power Saver mode ทันที
ส่วนการออกจาก Power Saver mode เพื่อกลับไปสู่ Smart mode เพียงกดปุ่ม Multi-function ค้างไว้ จนตัวเลขนับถอยหลังครบ 3 วินาที นาฬิกาก็จะรีสตาร์ตและเปลี่ยนกลับไปเป็นโหมดปกติเหมือนเดิม
ความแตกต่างระหว่างสองโหมดนี้ อยู่ที่ฟีเจอร์ และระยะเวลาในการใช้งานแบตเตอรี่ครับ ตามสเปค ใน Smart mode หากเป็นรุ่น 46mm จะสามารถใช้งานได้ประมาณ 36 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็น Power Saver mode จะสามารถใช้งานได้ยาวนานถึง 21 วัน แต่จะเหลือแค่ฟังก์ชั่นพื้นฐานเท่านั้น
ส่วนตัวผมจากที่ได้ใช้งานเครื่องรีวิว OPPO Watch 46mm มาเป็นเวลาประมาณ 4 วัน เลือกใช้แค่ Smart mode ครับ อายุของการใช้งานหลังจากชาร์จไฟเต็ม 100% ถอดจากที่ชาร์จตอนประมาณ 9.00 น. และใช้งาน เชื่อมต่อกับ OPPO Reno4 ตลอดทั้งวันที่มีการแจ้งเตือนเข้ามาเรื่อย ๆ ก็พบว่าสมาร์ทวอทช์รุ่นนี้ใช้งานจนถึงดึก แบบแบตเตอรี่เหลือ ๆ แต่ก็มีบางเคสที่เป็นการเชื่อมต่อกับ iOS (iPhone 11 Pro Max) แล้วพบอาการแบตไหลอยู่เหมือนกัน
ด้านการชาร์จไฟ ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องยอมให้กับ OPPO จริง ๆ นอกจากสมาร์ทโฟนจะชาร์จไฟได้รวดเร็วแล้ว พอมาทำสมาร์ทวอทช์ OPPO Watch ก็ยังคงคอนเส็ปการชาร์จเร็วไว้เช่นเคย กับแท่นชาร์จแบบแม่เหล็ก Watch VOOC Flash Charging ที่ใช้เวลาเพียง 75 นาที ก็สามารถเติมไฟจาก 0 – 100% หรือถ้ามีเวลาน้อยหน่อย การชาร์จเพียง 15 นาที ก็เพียงพอที่จะให้แบตเตอรี่ของสมาร์ทวอทช์ใช้งานได้ตลอดทั้งวันครับ
สรุปภาพรวม รีวิว OPPO Watch 46mm
ส่วนตัวผมถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีของ OPPO ในการลงมาทำอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ นอกเหนือจากการผลิตสมาร์ทโฟน และเป็นการปรับแต่ง Wear OS by Google ที่ดีที่สุด เท่าที่ผมเคยได้ทดลองใช้งานสมาร์ทวอทช์ระบบปฏิบัติการดังกล่าวเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะในเรื่องของความลื่นไหลที่ทำได้อย่างดีเยี่ยม รวมถึงดีไซน์ที่ฉีกออกจากสมาร์ทวอทช์แบรนด์จีนยี่ห้ออื่นไปเลย ด้วยการเลือกใช้หน้าจอทรงสี่เหลี่ยม แต่ก็ถือว่าเป็นนาฬิกาอัจฉริยะที่ดีไซน์สวยรุ่นหนึ่งเลยครับ
หากคุณกำลังมองหาสมาร์ทวอทช์ที่จะมาใช้คู่กับ Android Smartphone สักเครื่อง หรือถ้าเป็นคนที่ใช้สมาร์ทโฟน OPPO อยู่แล้ว ผมว่า OPPO Watch เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียวครับ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอที่สวย คมชัด ฟีเจอร์การออกกำลังกายที่ครอบคลุมทั้งผู้เริ่มต้นออกกำลังกาย ไปจนถึงคนที่ออกกำลังกายมาแล้วสักพัก ความสามารถในการตรวจจับอัตราการเต้นหัวใจแบบ real-time ที่สำคัญคือราคาไม่ถึงหมื่นบาทเสียด้วย