จัดรีวิว HUAWEI Watch 3 Active Edition ให้อย่างรวดเร็ว หลังเปิดตัวและเปิดราคาในไทย สำหรับสมาร์ตวอทช์รุ่นนี้ต้องบอกว่าปรับปรุงไปจากรุ่นก่อนหน้าในหลาย ๆ ด้าน ให้ความพรีเมียมมากขึ้น ฟีเจอร์ที่มีเยอะขึ้น โดยเฉพาะหน้าจอที่ผมว่ามันเป็นสมาร์ตวอทช์ที่หน้าจอสวยมาก ตัวหนังสือคมชัด อีกทั้งรอบนี้ยังรองรับ eSIM สามารถเชื่อมต่อ Cellular ได้ ยิ่งทำให้ HUAWEI Watch 3 มีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก
สำหรับ HUAWEI Watch 3 มีการปรับเปลี่ยนหลายด้านไปจาก HUAWEI Watch GT 2 Series ทั้งเรื่องวัสดุภายนอกตัวเรือน ดีไซน์ที่ดูเป็นแฟชั่นมากขึ้น รวมถึงการรันด้วย HarmonyOS ซึ่งช่วยให้การเชื่อมต่อ และการใช้งานมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น รวมถึงการมอนิเตอร์สุขภาพของผู้ใช้งาน เรียกว่าน่าจะเป็นนาฬิกาติดตัวในทุก ๆ วันได้สบายมาก
สเปคเครื่องรีวิว HUAWEI Watch 3 Active Edition
- หน้าจอ AMOLED แบบสัมผัสขนาด 1.43″ ความละเอียด 466×466 พิกเซล 326PPI
- รองรับการเชื่อมต่อผ่าน Bluetooth 5.2 และมี GPS ในตัว
- รองรับ Wi-Fi 2.4GHz และ NFC
- รองรับ eSIM
- น้ำหนักรวมสาย ประมาณ 333 กรัม
- มีเซ็นเซอร์ Accelerometer, Gyroscope, Geomagnetic, Optical heart rate, Ambient light sensor และ Barometric pressure sensor
- วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดระดับความเครียด วัดระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) วัดคุณภาพการนอนหลับ วัดระดับความสูงได้
- มีไมโครโฟนและลำโพงในตัว ใช้คุยโทรศัพท์ ฟังเพลงได้
- กันน้ำได้ระดับ 5ATM
- แบตเตอรี่ 450mAh ใช้งานได้นานสุด 3 วันในโหมด Smart
- รองรับการชาร์จไร้สาย ใช้แท่นชาร์จ Qi ได้เลย
- ใช้งานได้ทั้งกับ Android 6.0 ขึ้นไป และ iOS 9.0 ขึ้นไป
- ราคา 12,990 บาท
จุดเด่นที่น่าสนใจของ HUAWEI Watch 3 ก็คือเรื่องฟีเจอร์ด้านการดูแลสุขภาพแบบจัดเต็ม ในแบบที่สมาร์ตวอทช์ดี ๆ สักเรือนควรจะมี รุ่นนี้ก็ใส่มาให้หมด ไม่ว่าจะเป็น ตรวจจับการหกล้มอัตโนมัติ พร้อมฟีเจอร์ส่งสัญญาณ SOS ขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน ตรวจวัดค่าสำคัญของร่างกายได้ตลอดวันอย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ ไปจนถึงฟีเจอร์สุขภาพขั้นพื้นฐานอย่างการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ และการวัดระดับออกซิเจนในเลือด เหมาะกับสถานการณ์ที่ไวรัส COVID-19 กำลังระบาดอยู่ในตอนนี้
ด้านแบตเตอรี่ก็ถือว่าทำออกมาได้ดี สำหรับการใช้งานต่อเนื่องในโหมด Smart นานสูงสุด 3 วัน ด้วยแบตเตอรี่ในตัวเรือน 450mAh และยังมาพร้อมกับฟีเจอร์ชาร์จเร็ว 10 นาที ใช้งานได้นานถึง 15 ชั่วโมง และยังรองรับการชาร์จแบบ Reverse Charging ทำให้สามารถนำ Huawei Watch 3 ไปชาร์จกับแท่นชาร์จไร้สายที่มีอยู่ได้ทันที (Qi) หรือจะไปชาร์จที่หลังมือถือที่มีฟังก์ชัน Reverse Wireless Charging ก็ได้ด้วย ซึ่งมือถือ HUAWEI รุ่นท็อป ๆ ตัวใหม่ล้วนมีมาให้ใช้งานได้ทั้งนั้น
ตัวเรือน
กล่องของ HUAWEI Watch 3 ก็จะใช้สไตล์คล้าย ๆ รุ่นก่อนหน้า คือเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีดำ มีรูปตัวเรือนอยู่ด้านหน้าพร้อมชื่อรุ่น เมื่อดึงฝานอกขึ้น ก็จะพบตัวเรือนทันที ส่วนอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องประกอบไปด้วย
- ตัวเรือน HUAWEI Watch 3 ที่ติดตั้งมาพร้อมสายซิลิโคน
- แท่นชาร์จแบบไร้สาย ดูดติดกับตัวเรือนได้ด้วยแม่เหล็ก ใช้งานร่วมกับอะแดปเตอร์ที่เป็น USB Type-A ได้ทันที
ตัวเรือนยังคงใช้ดีไซน์ในสไตล์เดิมคือมีหน้าจอเป็นวงกลมไม่มีขอบนูน โดยขอบหน้าจอที่เป็นกระจกโค้ง จะรับเข้ากับกรอบตัวเรือนที่เป็นโลหะได้อย่างพอดี มีปุ่มกดทางฝั่งขวาอยู่ 2 ปุ่ม โดยปุ่มบนใช้สำหรับกดเข้าหน้ารวมแอป และกดกลับมาที่หน้าปัดหลักสำหรับบอกเวลา แต่รอบนี้มีไฮไลต์ตรงที่ปุ่มบน สามารถใช้การหมุน (เหมือนหมุนเม็ดมะยม) เพื่อใช้ในการซูมเข้าออกหน้าแอปในนาฬิกา รวมถึงใช้ในการเลื่อนเมนูต่าง ๆ ส่วนปุ่มล่างใช้เป็นปุ่มลัดสำหรับกดเข้าไปยังแอปหรือฟังก์ชันที่ต้องการ ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ตามใจชอบ
หน้าจอ AMOLED ของ HUAWEI Watch 3 ขนาด 1.43 นิ้ว ยังคงให้คอนทราสต์และความสว่างที่ลงตัวสำหรับการใช้งานในแทบทุกโอกาสเช่นเดิม แต่ถ้าเจอแดดจัด ๆ ก็อาจจะต้องอาศัยการป้องมือเพื่อให้มองหน้าจอได้ชัดขึ้นนิดนึง มีระบบปรับระดับความสว่างอัตโนมัติช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน
โดยบริเวณใต้ปุ่มทั้งสองนี้ จะมีช่องลำโพงอยู่ด้วย ส่วนอีกฝั่งจะเป็นช่องรับเสียงของไมค์ สามารถใช้ HUAWEI Watch 3 ในการรับสายโทรศัพท์ และโทรออกได้ที่ตัวนาฬิกาได้เลย
ความละเอียดของจอก็อยู่ในระดับที่เนียนตามาก ประกอบกับการใช้กระจกระนาบเดียวกัน ไม่ได้มีขอบนูนขึ้นมา ทำให้ดูหน้าจอใหญ่เต็มตา แต่ที่จริงแล้วพื้นที่แสดงผลจะมีถึงแค่บริเวณที่เป็นขอบด้านในหน้าจอเท่านั้น ส่วนบริเวณที่เป็นขอบสีดำ ก็ถูกคลุมไว้ด้วยกระจกโค้ง
ตัวเรือนมีฟังก์ชันหน้าจอแบบติดตลอด (Always on display) ให้เปิดใช้งานได้ และคราวนี้ก็ทำงานร่วมกับฟังก์ชัน raise to wake ที่เปิดหน้าจอ watchface หลักให้ติดขึ้นมาตอนที่ยกข้อมือขึ้นมาดูเวลาได้อีกด้วย ไม่เหมือนตอน Watch GT 2 Series ที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
ด้านหลังของตัวเรือนส่วนที่แนบติดกับแขนจะใช้วัสดุหลักเป็นเซรามิกที่มีความมันวาว ตรงกลางเป็นแถบเซ็นเซอร์ที่ใช้วัดข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวกับเลือด ทั้งอัตราการเต้นหัวใจ และปริมาณออกซิเจนในเลือด โดยที่ไม่มีขั้วทองเหลืองอยู่แล้ว ช่วยลดปริมาณคราบเหงื่อที่เข้าไปติดในช่องหลืบต่าง ๆ ได้ดี ทำความสะอาดง่าย
ขั้วล็อกสายเป็นแบบสลักที่สามารถใช้ปลายนิ้วดึงออก และติดตั้งได้สะดวก สามารถใช้สายของ Watch GT ขนาด 46 มม. รุ่นก่อน ๆ ได้เลย
การสวมใส่ก็เหมือนกับใส่นาฬิกาข้อมือทั่วไปเลย ตัวล็อกสายทำได้แน่นหนาดี ส่วนน้ำหนักตัวเรือน ในรุ่น Active เมื่อรวมสายซิลิโคน จะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 333 กรัม จัดว่าอยู่ในระดับมาตรฐานของนาฬิกาข้อมือที่เป็นแบบกลไกครับ สามารถใส่ติดตัวทำกิจกรรมได้ตลอดทั้งวัน หน้าปัดก็มีขนาดใหญ่ สามารถดูเวลาได้ง่าย แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับหน้า Watchface ที่ใช้ด้วย
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
อันดับแรกคือส่วนของ Watchface ที่มีติดตั้งมาให้ในตัวแล้วระดับหนึ่ง และผู้ใช้ยังสามารถดาวน์โหลดเพิ่มจากแอป HUAWEI Health ในมือถือ ส่วนถ้าใช้มือถือ HUAWEI และ Android ก็จะสามารถซื้อหน้า watchface ที่มีคนสร้างขึ้นมาขายในแอปเพิ่มเติมได้ด้วย แต่ถ้าใช้ iPhone จะโหลดได้แค่หน้า watchface ฟรีที่ HUAWEI เปิดให้โหลดได้เท่านั้น
อีกความเปลี่ยนแปลงของ HUAWEI Watch 3 คือการที่มันมาพร้อมระบบปฏิบัติการ HarmonyOS เลยทำให้สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นเพิ่มเติมใส่ในสมาร์ตวอทช์ได้ด้วย แต่ในตอนนี้ก็มีให้โหลดเพิ่มไม่มากเท่าไหร่นัก อีกทั้งแอปที่มีให้ดาวน์โหลดเพิ่มในตอนนี้ หากไม่นับ Petal Maps ผมว่าก็ยังไม่มีแอปตัวไหนน่าสนใจสักเท่าไหร่
การแสดงผลภาษาไทยบนหน้าจอ HUAWEI Watch 3 ถือว่าทำได้สมบูรณ์ ตัวหนังสือคมชัด การแจ้งเตือนมาในเวลาเดียวกับที่มีการแจ้งเตือนบนโทรศัพท์
ส่วนการแสดงการแจ้งเตือนต่าง ๆ จะเป็นการส่งข้อมูลมาจากมือถือที่จับคู่กันไว้ โดยสามารถแยกรูปแบบการแสดงผลของแต่ละแอปได้ดี รวมถึงยังสามารถตั้งค่าได้ด้วยว่าจะให้แสดงการแจ้งเตือนจากแอปใดบ้าง เวลาโทรเข้าก็มีปุ่มให้กดรับสายหรือตัดสายได้ทันที ซึ่งถ้ากดรับสาย ก็สามารถคุยจากตัวเรือนได้เลย ช่วยเพิ่มความสะดวกในเวลาที่มือถือไม่ได้อยู่ติดตัว หรือเวลาที่มือเปียกได้ดี
หน้ารวมแอปสามารถใช้การปาดนิ้วเพื่อเลื่อนดูได้ หรือจะใช้การหมุนเม็ดมะยมก็ได้เช่นกัน การที่เพิ่มปุ่มหมุนได้ขึ้นมา ช่วยให้เข้าถึงแอปต่าง ๆ บนนาฬิกา รวมถึงการใช้งานแอปโดยภาพรวมแบบ Standalone ที่ตัวนาฬิกาเองได้ดีขึ้นมาก
HUAWEI Watch 3 รองรับการวัดระดับออกซิเจนในเลือด ซึ่งสามารถตั้งค่าได้ว่าจะให้วัดอัตโนมัติเป็นระยะ ๆ หรือไม่ ส่วนถ้าต้องการวัดเป็นช่วง ๆ ก็เข้ามากดวัดจากในแอป SpO2 ได้เช่นกัน สำหรับการวัดจะใช้เวลาซักนิดนึง แนะนำว่าควรเท้าแขนไว้กับโต๊ะเพื่อให้แขนนิ่งที่สุด ความแม่นยำก็อยู่ในระดับที่พอใช้ประเมินสุขภาพได้คร่าว ๆ ครับ ไม่ถึงกับสามารถใช้อ้างอิงในทางการแพทย์ได้ 100% ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเหล่าอุปกรณ์สมาร์ตวอทช์เพื่อสุขภาพเกรด Consumer อยู่แล้ว
แต่ในยุคที่สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาดเช่นนี้ การวัดระดับออกซิเจนในเลือดด้วยสมาร์ตวอทช์แค่ในระดับ Consumer Grade ก็มีความหมาย และผมว่ามันก็เพียงพอที่จะทำให้ทราบถึงความผิดปกติเบื้องต้นของร่างกายได้เป็นอย่างดี เรียกว่าเป็นฟีเจอร์ที่ผมมองว่าใส่มาได้ตรงสถานการณ์ และได้ใช้งานกันอย่างแน่นอนครับ
นอกจากวัดระดับออกซิเจนในเลือดได้แล้ว HUAWEI Watch 3 ยังสามารถวัดอุณหภูมิในร่างกายผ่านทางผิวหนังได้อีกด้วย แต่ที่เห็นว่าตัวเลขแสดง 32.5 องศาเซลเซียสนั่นไม่ได้ขึ้นผิดนะครับ เพราะอุณหภูมิร่างกายปกติจากการวัดที่ผิวหนังจะอยู่ที่ 32 – 34 องศาเซลเซียสนั่นเอง ไม่ได้ใช้เกณฑ์เดียวกับการวัดไข้ด้วยปรอท
ระบบการวัดระดับความเครียดก็มีมาให้เช่นกัน โดยการใช้งานครั้งแรก ผู้ใช้จะต้องสั่งเปิดจากในมือถือ และตอบแบบสอบถามก่อนเล็กน้อย เพื่อประเมินระดับความเครียดในสภาวะปกติของตัวผู้ใช้งานก่อน หลังจากตั้งค่าเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถสั่งให้ตัวเรือนวัดแบบอัตโนมัติเพื่อเก็บข้อมูลเป็นระยะ ๆ ได้เช่นกัน และเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น HUAWEI Watch 3 ก็มีฟีเจอร์อย่าง Breathe หรือการฝึกกำหนดลมหายใจ ช่วยให้ควบคุมอารมณ์ และจัดการความเครียดได้ดี
อีกระบบที่น่าสนใจก็คือการวัดคุณภาพการนอนหลับ HUAWEI TruSleep ที่สามารถตรวจจับการนอน วัดช่วงเวลา deep sleep และข้อมูลต่าง ๆ มาซิงค์กับแอปด้านสุขภาพในมือถือได้อย่างสะดวกฟีเจอร์นี้เหมาะมากกับคนที่รู้สึกว่านอนเท่าไหร่ก็ไม่สดชื่น เพราะตัวสมาร์ตวอทช์จะสามารถบอกได้เลยว่าการนอนในแต่ละคืนนั้น มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด หลับสนิทจริงหรือเปล่า เป็นต้น
ส่วนใครที่เป็นสายปีนป่ายน่าจะชอบฟังก์ชัน ในการวัดระดับความกดอากาศและระดับความสูงเมื่อเทียบกับระดับน้ำทะเลแบบ realtime ซึ่งจะไปบันทึกและแสดงข้อมูลในการเก็บข้อมูลการออกกำลังกายบางรูปแบบด้วย เช่น การเดิน การปีนเขา เป็นต้น
หน่วยความจำในตัวเรือนที่ให้มานั้น สามารถใส่เพลงเข้าไปเพื่อใช้ฟังได้ผ่านทางแอป HUAWEI Music ซึ่งผู้ใช้สามารถจับคู่ HUAWEI Watch 3 เข้ากับหูฟัง Bluetooth เพื่อใช้ฟังเพลงได้ทันที หรือถ้าใช้หูฟังไร้สายของ HUAWEI ในตระกูล Freebuds เองก็ยิ่งง่ายเข้าไปอีก สมกับที่ทำออกมาเป็น ecosystem นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการควบคุมการเล่นเพลงบนมือถือ Android ได้ด้วย
ข้อดีอีกอย่างของ HUAWEI Watch 3 คือรุ่นนี้รองรับการใช้งาน eSIM อธิบายง่าย ๆ ก็คือตัวมันเองรองรับการเชื่อมต่อแบบ Cellular ได้แล้ว เพียงแค่ไปที่ศูนย์บริการโอเปอเรเตอร์ และทำการเปิดใช้บริการ eSIM (ส่วนมากจะเป็นแพ็กเกจเสริมจากเบอร์หลัก) เมื่อนาฬิกาไม่ได้เชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ในกรณีที่ใส่ HUAWEI Watch 3 ไปออกกำลังกายนอกสถานที่ ไม่ได้พกสมาร์ตโฟนไฟ ก็ยังสามารถรับสาย, โทรเข้าออก รวมถึงฟังเพลงแบบ Streaming ผ่านแอป HUAWEI Music ได้ด้วยตัวมันเอง ไม่จำเป็นต้องโหลดเพลงลงในตัวนาฬิกาเหมือนรุ่นก่อน ๆ
สำหรับตัวปุ่มล่างสามารถปรับเป็นปุ่มลัดเพื่อเรียกฟังก์ชันต่าง ๆ มาใช้งานได้ ซึ่งจุดที่ปรับจะอยู่ในเมนู Settings อีกที โดยสามารถจับคู่กับแอปใดก็ได้ในเครื่องเลย
โดยค่าเริ่มต้น ระบบจะกำหนดมาให้เป็นการรวมเมนูสำหรับการออกกำลังกาย (Workout) ที่ทำให้ผู้ใช้เข้ามากดเลือกรูปแบบการออกกำลังกายที่ต้องการได้สะดวก ส่วนถ้าใครต้องการคอร์สสำหรับฝึกวิ่งก็มีให้ใช้งานได้ฟรีด้วยเช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นแบบเดิน/วิ่งทั่วไป วิ่งเพื่อเผาผลาญไขมัน ไปจนถึงการวิ่งแบบ HIIT ที่ช่วยเสริมสุขภาพในด้าน VO2Max ได้เลย ซึ่งหน้าจอก็จะมีคำแนะนำบอกว่าควรทำอะไรเพื่อให้เป็นไปตามคอร์สที่ออกแบบมา
ซอฟต์แวร์และการใช้งานคู่กับมือถือ
ในการเชื่อมต่อ HUAWEI Watch 3 เข้ากับสมาร์ตโฟน จะต้องมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น HUAWEI Health เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อเสียก่อน แต่ถ้าใครใช้สมาร์ตโฟน HUAWEI อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องโหลดเพิ่ม เพราะแอปจะถูก Pre-load ไว้แต่แรกแล้ว
เมื่อเปิดแอปขึ้นมา ล็อกอิน และจับคู่กับนาฬิกาเรียบร้อย เข้ามาที่ตัวนาฬิกาก็จะพบกับเมนูตั้งค่าต่าง ๆ เริ่มจากด้านบนสุดเป็นปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ ถัดลงมาเป็นจำนวนก้าวเดิน จำนวนแคลอรี่ที่เผาผลาญไป และระยะทางการเดินที่ทำได้ในวันนั้น ๆ ถัดลงมาก็เป็นหน้า watchface ที่สามารถเข้าไปหาและโหลดมาลงในเครื่องได้
หัวข้อ Health monitoring จะเป็นศูนย์รวมการตั้งค่าเกี่ยวกับการตรวจวัดสุขภาพ เช่น ฟังก์ชัน TruSleep สำหรับตรวจจับการนอนหลับอัตโนมัติ รวมถึงมีตัวเปิด/ปิดการวัดอัตราการเต้นหัวใจ วัดระดับความเครียด และวัดระดับ SpO2 แบบอัตโนมัติด้วย ซึ่งถ้าเปิดไว้ทั้งหมด ก็แน่นอนว่าจะกินแบตมากกว่าเดิม
ด้านของแบตเตอรี่ HUAWEI Watch 3 ผมลองใช้งานในลักษณะของการให้สมาร์ตวอทช์ตรวจวัดทุกสิ่งอย่างตลอดเวลา ทั้งการเก็บสถิติอัตราการเต้นของหัวใจ, ระดับออกซิเจนในเลือด ไปจนถึงตรวจจับการนอน พบว่าแบตเตอรี่จะใช้งานได้เฉลี่ยประมาณ 2 – 4 วัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคลด้วยครับ โดยเฉพาะถ้ามีการเปิดใช้งาน LTE แบตเตอรี่จะลดเร็วมากกว่าปกติ
ส่วนใครอยากให้แบตเตอรี่อึดขึ้นมาหน่อย ก็คงต้องเปิดโหมดประหยัดพลังงาน ซึ่งจะปิดกั้นการเข้าถึงแอปบางอย่าง และให้นาฬิกาเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนด้วย Bluetooth เท่านั้น ไม่เหมือนอย่างโหมด Smart หรือโหมดปกติ ที่เมื่อนาฬิกาห่างจากโทรศัพท์ มันจะไปเชื่อมต่อกับ Wi-Fi หรือ Cellular แทน โดยในโหมดประหยัดพลังงาน จะสามารถใช้งานได้ยาว ๆ ประมาณ 10 วัน โดยที่ไม่ต้องชาร์จไฟครับ
ส่วนการชาร์จแบตเตอรี่ ก็ถือว่าสะดวกขึ้นมาก จากการที่สายชาร์จเป็นแบบแม่เหล็ก รวมถึงรองรับการชาร์จร่วมกับแท่นชาร์จไร้สายบนสมาร์ตโฟน อีกทั้งตัวเรือนรองรับการชาร์จเร็วด้วย ซึ่งก็ชาร์จได้เร็วทีเดียว ถอดออกมาชาร์จระหว่างอาบน้ำเช้า/เย็น ก็แทบไม่ต้องกังวลเรื่องแบตหมดเลย หรือถ้ามีเวลาชาร์จน้อยหน่อย แค่ 10 นาทีก็สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องถึง 15 ชั่วโมงแล้ว แต่อาจจะต้องปิดพวกฟีเจอร์การตรวจวัดสุขภาพอัตโนมัติเพื่อให้แบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนานด้วยครับ
สรุปภาพรวมรีวิว HUAWEI Watch 3
หลังจากที่ได้รีวิว HUAWEI Watch 3 และใช้งานมันกว่า 2 สัปดาห์ ผมเองมองว่ามันเป็นสมาร์ตวอทช์ที่ยังคงตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ด้านฟังก์ชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้ดีอย่างที่เคยเป็น ทั้งยังรองรับการออกกำลังที่หลากหลายรูปแบบยิ่งขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงด้านการออกแบบ ให้ดูเป็นนาฬิกาที่มีความแฟชั่นมากขึ้น สวมใส่ได้ในหลายโอกาส
ส่วนการใช้งานร่วมกับมือถือและแอปพลิเคชันเองก็ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนมาใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS 2.0 ที่ผมว่ามันมีความเสถียร ความเร็วในการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงการเชื่อมต่อ ที่เมื่อใช้งานร่วมกับสมาร์ตโฟน HUAWEI (ทดสอบด้วย HUAWEI nova 8i) ผมว่ามันง่ายตั้งแต่การเชื่อมต่อ ไปจนถึงฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกันได้ดีมาก ๆ
ในแง่ของความแม่นยำในการตรวจจับการออกกำลัง ตรวจวัดข้อมูลสุขภาพตัวผู้ใช้นั้น จัดว่าอยู่ในระดับมาตรฐานครับ พอจะใช้สำหรับสังเกตสุขภาพได้แบบคร่าว ๆ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเครื่องมือสำหรับช่วยในการดูแลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงผู้ที่ต้องการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับร่างกาย ด้วยชุดรูปแบบการฝึกที่มีมาให้ และโหมดการออกกำลังกายที่รองรับกว่าร้อยแบบ เช่น เดินในที่ร่ม เดินกลางแจ้ง เล่นสกี ตีกอล์ฟ แอโรบิก ต่อยมวย เต้น บอดี้คอมแบต เรียกว่าค่อนข้างครอบคลุมรูปแบบหลัก ๆ ในปัจจุบันได้อย่างครบถ้วนแล้ว
HUAWEI Watch 3 Active Edition ราคา 12,990 บาท สามารถพรีออเดอร์ได้ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ได้ที่
- HUAWEI Online Store https://bit.ly/2Ugx0tQ
- Shopee https://bit.ly/3AH1dTi
- Lazada https://bit.ly/3jQk6NO
- JD Central https://bit.ly/3yzi8p7