ถ้ามองจากตลาดแท็บเล็ตเท่าที่ผ่านมา ASUS เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความสนใจค่อนข้างมาก เนื่องด้วยตัวผลิตภัณฑ์ที่มึคุณภาพดี น่าใช้งาน แถมยังมีอุปกรณ์เสริมที่หลายๆ คนชอบอย่างคีย์บอร์ดแยก ซึ่งช่วยทำให้การใช้งานโดยเฉพาะการพิมพ์งานทำได้สะดวกยิ่งขึ้น จนทำให้มันสามารถเข้ามาแทนกลุ่มของเน็ตบุ๊กได้อย่างง่ายดาย เพราะข้อดีที่สูงกว่า ไม่ว่าจะเป็นระยะการใช้งานแบตเตอรี่ที่ยาวนานกว่าเน็ตบุ๊กทั่วไป น้ำหนักเครื่องที่กำลังดี หรือจะเป็นความสามารถในการใช้งานจอสัมผัส ที่ทำให้เราสามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นกว่าเดิมมากๆ และแน่นอนว่าข้อดีต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกบรรจุเข้ามาอยู่ใน ASUS Transformer Pad 3G ตัวนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็แน่นอน การเปลี่ยนรูปแบบชื่อแท็บเล็ตของ ASUS ก็น่าจะแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของผลิตภัณฑ์ด้วย เอาเป็นว่าเรามาดูกันดีกว่าว่า ASUS Transformer Pad 3G มันเป็นยังไง แล้วน่าใช้หรือเปล่า
ตัวของ ASUS Transformer Pad 3G จะมีมาด้วยกัน 3 สี คือสีน้ำเงิน แดง และ ขาว มาพร้อมกับรหัสรุ่นว่า TF300T ซึ่งเป็นซีรี่ย์ใหม่ของแท็บเล็ตจาก ASUS ส่วนสเปกเครื่องนั้น ก็ตามนี้เลย
- ชิปประมวลผล NVIDIA Tegra 3 (T30L) ความเร็ว 1.5 GHz (แต่ ASUS ลดคล็อกลงมาเหลือ 1.2 GHz เพื่อการประหยัดพลังงาน)
- RAM 1 GB (ใช้งานได้จริงราวๆ 600 กว่า MB)
- Android 4.0.3 Ice Cream Sandwich
- จอใช้พาเนลแบบ IPS ขนาด 10.1″ นิ้ว ความละเอียด 1280 x 800 ความสว่าง 350nits
- หน่วความจำภายใน 16 GB
- รองรับ microSD ได้สูงสุด 16 GB
- กล้องหลังความละเอียด 8 MP สามารถถ่ายวิดีโอได้ความละเอียดสูงสุด 1080p
- กล้องหน้าความละเอียด 1.2 MP
- มีเซ็นเซอร์จับการทำงานอยู่ 5 ตัวคือ G-Sensor, Light Sensor, Gyroscope, E-compass และ GPS
- แบตเตอรี่ในตัวความจุประมาณ 2,750 mAh สามารถใช้งานได้ราว 10 ชั่วโมง
- แบตเตอรี่เสริมใน keyboard dock ความจุประมาณ 2,062 mAh สามารถใช้งานได้ราว 15 ชั่วโมง (เมื่อประกอบเข้ากับตัวแท็บเล็ตแล้ว)
- ตัวเครื่องมีขนาด 263 x 180.8 x 9.9 มิลลิเมตร น้ำหนัก 635 กรัม
- ตัว keyboard dock มีขนาดเท่ากับตัวแท็บเล็ต แต่มีความหนาอยู่ที่ 10.2 มิลลิเมตร น้ำหนัก 546 กรัม
ก็น่าจะเรียกได้ว่า ASUS Transformer Pad 3G เป็นแท็บเล็ตอีกตัวที่มาพร้อมประสิทธิภาพในการทำงานที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะทั้งจากตัวชิปประมวลผล NVIDIA Tegra 3 แล้วยังมีแรมในตัวเหลือเฟือสำหรับการใช้งานเลยทีเดียว
*** สามารถดูทุกภาพในขนาดเต็มได้ด้วยการคลิกที่ตัวภาพครับ ***
เมื่อประกอบตัวแท็บเล็ตเข้ากับ keyboard dock ก็แทบจะแยกไม่ออกแล้วว่าเป็นแท็บเล็ตหรือเน็ตบุ๊กกันแน่ เพราะรูปร่างหน้าตานั้นละม้ายคล้ายกันมาก แถมตัว keyboard dock ยังมีทัชแพดมาให้อีก ซึ่งก็เหมาะมากกับการใช้งานของหลายๆ ท่านที่บางครั้งอาจจะขี้เกียจจิ้มจอสัมผัส ส่วนตัวปุ่มฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ นั้นก็มีมาให้บน keyboard อย่างครบครัน ไม่ว่าจะทั้งปุ่ม back, ปุ่ม home หรือปุ่มอื่นๆ ที่อำนวยความสะดวกให้กับการใช้งานได้เป็นอย่างดี
ด้านของวัสดุโดยรวมของตัวเครื่องก็จะเป็นพลาสติกเป็นหลัก จะมีก็ส่วนของจอและขอบจอที่เป็นกระจกเช่นเดียวกับแท็บเล็ตตัวอื่นๆ
ส่วนของฝาหลังก็ใช้พลาสติกเช่นกัน แต่เป็นพลาสติกที่มีความแข็งแรงค่อนข้างสูง แตกหักยาก อีกทั้งมีการบากเป็นลายวงน้ำกระจายออกจากตราคำว่า ASUS ที่ตอกอยู่ตรงกลางของฝาหลัง ทำให้เวลาส่องกระทบแสงจะเกิดเป็นลวดลายคล้ายกับในแท็บเล็ตรุ่นเก่าของ ASUS อย่าง ASUS Eee Pad Transformer Prime จะต่างกันก็แต่เพียงว่าวัสดุไม่ได้เป็นแบบมันเงา ทำให้อาจจะดูแล้วมีความพรีเมี่ยมลดลงไปเล็กน้อย แต่ถ้าดูโดยรวมแล้ว บอกได้ว่าน่าใช้งานไม่น้อยเลย แถมดีกว่าตรงที่ไม่เกิดรอยนิ้วมืออีกด้วย
ในขณะใช้งานจริง ถ้าเครื่องมีการประมวลผลที่ค่อนข้างหนัก เช่น ใช้ในการเล่นเกม หรืือขณะรันแอพทดสอบประสิทธิภาพของเครื่อง ตรงมุมของฝาหลังด้านซ้ายบน (หันจอเข้าหาตัว) จะอุ่นๆ ขึ้นมาเล็กน้อย แต่ก็ยังสามารถใช้งานได้อย่างสบายๆ ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยวัสดุที่เป็นพลาสติก ทำให้ไม่นำความร้อนมาสู่มือผู้ใช้มากนัก และอีกส่วนที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นขณะใช้งานเล็กนน้อยก็จะเป็นส่วนกลางของเครื่อง ตั้งแต่โลโก้ ASUS ไล่ขึ้นมาถึงส่วนล่างของกล้องหลัง แต่ความร้อนที่เพิ่มขึ้นมานั้นน้อยกว่ามุมซ้ายบนของเครื่องมาก จึงไม่น่าทำให้เกิดปัญหากับผู้ใช้งานแน่นอน และยิ่งถ้าต่อใช้งานกับคีย์บอร์ดด้วยละก็ สบายๅ ชิลๅ เลยครับ เพราะตัวคีย์บอร์ดนั้นไม่มีความร้อนเกิดขึ้นเลย
ส่วนที่สำคัญที่อยู่ตรงบริเวณฝาหลังก็ได้แก่ลำโพงที่แม้จะมีอยู่ตัวเดียว แต่ก็ให้พลังเสียงที่ดี ระดับความดังอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ โทนเสียบมาค่อนข้างครบถ้วนทั้งแหลม กลาง และโทนเสียงต่ำก็มาอยู่พอสมควร ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเทคโนโลยีระบบเสียง SonicMaster ของ ASUS เองที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้นำมาใส่ไว้ใน ASUS Transformer Pad 3G นี้ด้วย แต่ถ้าลองใช้งานจริงๆ แล้ว จะพบว่าลำโพงอยู่ในตำแหน่งการจับของมือพอดี ทำให้ลำโพงอาจจะถูกมือบังไว้ เสียงที่ได้อาจจะมึ drop ลงจากปกติเล็กน้อย แต่ถ้านำมาเสียบเข้ากับตัว keyboard dock จะพบว่าเป็นการจับคู่ที่พอลงตัวมากทีเดียว เพราะผู้ใช้ก็ไม่ต้องถือตัวแท็บเล็ตเอง แถมลำโพงก็ให้เสียงที่จัดได้ว่าดีสำหรับตัวแท็บเล็ตเลยทีเดียว
ด้านบนในแนวนอนนั้นจะเป็นตำแหน่งของกล้องหลังความละเอียด 8 MP ซึ่ง UI ภายในเป็นดังรูปด้านล่างนี้เลย
ส่วนฟีเจอร์ของกล้องก็มาพร้อมกับฟีเจอร์พื้นฐานของกล้องใน Ice Cream Sandwich ซึ่งฟีเจอร์การถ่ายภาพมุมกว้างแบบ panorama ก็ได้ถูกบรรจุมาด้วย รับชมตัวอย่างภาพที่ถ่ายด้วย ASUS Transformer Pad 3G ได้จากด้านล่างนี้เลยครับ โดยที่การตั้งค่าของกล้องจะเป็น default ทั้งหมด ปล่อยให้กล้องปรับค่าด้วยตนเอง สองภาพบนจะเป็นภาพที่ถ่ายภายในอาคารที่มีแสงค่อนข้างสว่างกำลังดี ส่วนสองภาพล่างเป็นภาพถ่ายกลางแจ้ง แดดแรงพอสมควร
ซึ่งภาพที่ได้จัดได้ว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าแท็บเล็ตทั่วไปเล็กน้อย อาจจะมีความสว่างแบบ over expose มากไปนิด แต่โดยรวมก็จัดว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับแท็บเล็ต Android ตัวอื่นๆ ในตลาด
ส่วนภาพด้านบนนี้ก็เป็นการถ่ายภาพแบบ panorama ครับ การถ่ายนั้นก็ง่ายๆ เพียงแค่กดปุ่มถ่ายรูป แล้วก็ค่อยๆ หมุนตัวเครื่องไปทางทิศที่เราต้องการอย่างช้าๆ ซึ่งถ้าแนวภาพยังค่อนข้างตรงกับของเดิม ภาพก็จะถูกบันทึกลงไปโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าไม่ตรงก็จะมีกรอบสีแดงๆ ขึ้นมาให้ผู้ใช้ทราบ
หันมาดูด้านหน้ากันบ้าง ซึ่งส่วนที่เด่นที่สุดก็คือหน้าจอ โดยจะมีกล้องหน้าความละเอียด 1.2 MP ติดอยู่เหนือจอ ส่วนจุดใกล้ๆ กันนั้นจะเป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับแสงสว่างเพื่อให้ระบบใช้ในการปรับระดับความสว่างจอแบบอัตโนมัติ
ลองปรับจอความสว่างสูงสุด โดยภาพด้านบนเป็นภาพจอเมื่อใช้งานภายในออฟฟิศ ซึ่งความสว่างนั้นอยู่ในระดับที่ดีมากทีเดียว มุมมองของภาพก็กว้าง โดยในเว็บของ ASUS นั้นเคลมไว้เลยว่าจอมีมุมกว้างถึง 178 องศา ทั้งนี้ก็เนื่องจากการเลือกใช้พาเนลจอแบบ IPS ที่ให้สีสันได้ตรงและคมชัด แถมมุมมองก็ค่อนข้างกว้างขนาดสามารถรับชมภาพจากจอพร้อมกัน 2 คนได้อย่างสบายๆ
เมื่อใช้งานกลางแจ้ง ก็พบว่ามีแสงสะท้อนจากด้านหลังที่สะท้อนตัวจอออกมามากพอสมควร ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีการใช้กระจกเป็นแผ่นปิดหน้าจอ ส่วนความสว่างของจอก็เรียกว่าสู้แสงจ้าได้พอประมาณ
คราวนี้มาดูส่วนสันเครื่องกันบ้าง เริ่มจากด้านขวาที่มีส่วนสำคัญได้แก่ ปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง, พอร์ต HDMI, ช่องรับเสียงของไมค์, ช่องเสียบ microSD, และปิดท้ายด้วยช่องใส่ซิม
โดยสามารถใส่ซิมการ์ดขนาดเต็มได้อย่างสบายๆ ซึ่งเท่าที่ทดสอบการเชื่อมต่อ 3G ก็พบว่าใช้งานได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่ต้องเข้าไปตั้งค่าใดๆ เพิ่มเติมก็สามารถใช้ได้ทันที เพราะตัวเครื่องสามารถใช้งาน GSM ได้ 4 ความถี่สัญญาณ ทั้ง 850, 900, 1800, 1900 รวมไปถึง UMTS 2100 ด้วย ซึ่งการจะงัดถาดใส่ซิมออกมานั้น อาจจะต้องหาเข็มหรืออุปกรณ์ถอดซิมอย่างใน iPhone มาใช้ หรือว่าถ้าใครเล็บยาวหน่อยก็อาจค่อยๆ แงะออกมาเลยก็ได้ แต่อาจต้องระวังรอยขีดข่วนหรือการแตกหักของถาดใส่ซิมด้วย เพราะมีขนาดที่ค่อนข้างบาง
ฝั่งขวาจะมีช่องเสียบแจ๊คหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรอยู่ โดยการวางตำแหน่งของช่องจะเยื้องไปทางด้านบนของ ASUS Transformer Pad 3G
ด้านล่างมีพอร์ตเชื่อมต่อแบบ 40 พินอยู่ ซึ่งเจ้าพอร์ตนี้จะใช้เป็นพอร์ตทั้งสำหรับเสียบชาร์จไฟ, ถ่ายโอนข้อมูล รวมไปถึงใช้เชื่อมต่อเพื่อทำงานร่วมกับ keyboard dock ด้วย ส่วนช่องว่าง 2 ช่องทั้งซ้ายขวานั้น เป็นช่องสำหรับยึดตัวแท็บเล็ตให้ติดมั่นคงกับ keyboard dock ซึ่งในการใช้งานจริงก็พบว่ามันสามารถยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นหนาและแข็งแรงมาก
มาดูกันที่ส่วนของคีย์บอร์ดเสริมบ้าง ตัวปุ่มก็จะเป็นแบบ chiclet คล้ายกับในเน็ตบุ๊ก ทำให้ใครที่เคยชินกับการใช้คอมพิวเตอร์มาสามารถใช้งานได้อย่างไม่ยากเย็นนัก จะมีก็แต่บางปุ่มที่เป็นปุ่มของแท็บเล็ต Android เท่านั้น เช่นปุ่ม back ที่อยู่มุมบนสุดด้านซ้ายของคีย์บอร์ด, ปุ่มล็อกหน้าจอที่อยู่มุมขวาบนของคีย์บอร์ด, ปุ่ม home ที่อยู่ติดกับปุ่ม Fn ด้านล่างซ้าย, ปุ่ม search จะอยู่ติดกับปุ่ม home และปิดท้ายด้วยปุ่ม menu ที่อยู่ฝั่งขวาล่างของคีย์บอร์ด ซึ่งปุ่มต่างๆ เหล่านี้ช่วยทำให้การใช้งานเครื่อง ASUS Transformer Pad ทำได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยแทบจะไม่ต้องเอื้อมมือไปแตะจอเลยก็ยังได้ แถมยังมีปุ่มลัดในการ capture หน้าจอให้อีกด้วย นับว่าช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ได้มากทีเดียว
อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือทัชแพดที่ทำให้ ASUS Transformer Pad 3G กลายร่างเป็นเน็ตบุ๊กได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ เพราะสามารถทำงานได้ใดล้เคียงกับทัชแพดในโน้ตบุ๊ก/เน็ตบุ๊กมาก สามารถใช้งานลากนิ้วแบบต่างๆ ได้เหมือนกับใช้จอสัมผัสเลย เช่น การ pinch-to-zoom จะมีต่างก็แต่เพียงปุ่มคลิกขวาที่จะใช้เป็นปุ่ม back เท่านั้นเอง ความไวของทัชแพดอยู่ในระดับที่ดี กำลังพอเหมาะกับขนาดจอ ไม่เร็วหรือไม่ช้าเกินไป
ฐานด้านล่างของคีย์บอร์ดมาในหน้าตาเรียบๆ วัสดุที่ใช้ก็เป็นพลาสติกสีด้าน ซึ่งอาจจะมีคราบรอยนิ้วมือได้ง่ายหน่อย แต่ก็สามารถใช้ผ้าเช็ดออกได้ง่ายเช่นเดียวกัน ที่มุมทั้ง 4 มุมของฐานจะมีแป้นยางรองกันลื่นให้ทั้งหมด ทำให้สามารถตั้งใช้งานบนโต๊ะ บนกระจก หรือบนพื้นที่ผิวเรียบได้อย่างไม่มีปัญหา
ที่ dock นั้นจะมีพอร์ตเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มความสามารถให้กับตัวแท็บเล็ตด้วย ไม่ว่าจะเป็นช่องอ่าน SD Card, USB 2.0 รวมไปถึงช่องชาร์จไฟที่อยู่ตรงมุมซ้ายบนของเครื่อง
น้ำหนักของตัว ASUS Transformer Pad นั้น ถ้านับแต่ตัวแท็บเล็ตจะอยู่ที่ราว 650 กรัม พอๆ กับ The new iPad เลย ส่วนถ้าประกอบกับคีย์บอร์ดแล้ว น้ำหนักจะอยู่ที่ราวๆ 1.16 กิโลกรัม ก็คือเบากว่า Ultrabook ทั่วๆ ไปในท้องตลาดพอสมควร หรือใกล้เคียงกับเน็ตบุ๊กมากเลยทีเดียว ทำให้หลายๆ คนที่ใช้เน็ตบุ๊กอยู่น่าจะสนใจตัวของ ASUS Transformer Pad เพราะน้ำหนักในการพกพาที่ไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก แต่ความสามารถในการใช้งานค่อนข้างหลากหลายกว่า แม้จะใช้คนละระบบปฏิบัติการก็ตาม
Android ที่ติดตั้งมาใน ASUS Transformer Pad 3G นั้นเป็นเวอร์ชัน 4.0.3 ครับ
ซึ่งในตัวรอมก็จะมีการใส่ ASUS customized setting มาให้สำหรับปรับตั้งค่าการทำงานต่างๆ ด้วย เช่น ฟอร์แมตของภาพที่จะบันทึกจากการ capture แถมยังสามารถตั้งค่าให้ capture ภาพด้วยการกดปุ่ม Recent apps ค้างไว้ ได้อีกต่างหาก ซึ่งจะเหมาะกับคนที่ต้องการ capture จอ แต่ไม่ได้ต่อคีย์บอร์ดแยกขณะกำลังใช้งาน อีกทั้งยังมีการปรับตั้งค่าของทัชแพดได้ด้วย
ต่อไปเราจะมาพูดถึงผลการทดสอบประสิทธิภาพกันบ้างครับ ว่าพลังของ NVIDIA Tegra 3 จะเป็นอย่างไรบ้าง
มาต่อกันด้วยผลการทดสอบจากโปรแกรมกันบ้าง โดยผลของเครื่องอื่นๆ จะนำมาจากผลเทสของ GSMArena และ Engadget นะครับ ส่วนตัว ASUS Transformer Pad 3G นั้น ใช้การตั้งค่าโหมดพลังงานแบบปกติ
Benchmark Pi (ยิ่งน้อยยิ่งดี)
ตัวของ Benchmark Pi จะเป็นการทดสอบพลังประมวลผลของตัว CPU โดยทดสอบจากการประมวผลเพื่อหาค่าทศนิยมของ Pi โดยยิ่งเครื่องไหนใช้เวลาในการประมวลผลน้อย ยิ่งแสดงว่าประสิทธิภาพในการประมวลผลของ CPU ดี
Linpack multi-thread (ยิ่งมากยิ่งดี)
เป็นแอพสำหรับทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลของ CPU โดยจะดูจากความสามารถการประมวลผลทศนิยมภายในเวลา 1 วินาทีว่าจะได้จำนวนทศนิยมเท่าไร มีหน่วยเป็น MFLOPS ซึ่งยิ่งค่า MFLOPS ยิ่งสูง แสดงว่า CPU มีประสิทธิภาพในการประมวลผลที่ดี
Quadrant (ยิ่งมากยิ่งดี)
Quadrant เป็นแอพที่ใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่อง ไม่ว่าจะเป็น CPU, Memory, I/O, พลังการประมวลผลกราฟิกทั้ง 2D และ 3D ซึ่งผลคะแนนจะนำมาวัดรวมกันแล้วออกมาเป็นประสิทธิภาพโดยรวมของเครื่อง ซึ่งคะแนนยิ่งมากก็ยิ่งดี
Nenamark 1 (ยิ่งมากยิ่งดี)
Nenamark 1 คือแอพสำหรับทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลกราฟิกของตัว GPU โดยจะวัดผลออกมาเป็นจำนวนเฟรมที่เรนเดอร์ได้ต่อวินาที (FPS) โดยยิ่ง FPS มีค่ามาก ยิ่งแสดงว่า GPU มีพลังในการประมวลผลกราฟิกที่ดี
Nenamark 2 (ยิ่งมากยิ่งดี)
เช่นเดียวกับ Nenamark 1 นั่นคือการวัดประสิทธิภาพของ GPU โดยตัวแอพได้รับการพัฒนาขึ้นมาจากเวอร์ชันแรกเพื่อให้สามารถทดสอบชิปต่างๆ ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้่น
SunSpider (ยิ่งน้อยยิ่งดี)
SunSpider คือชุดทดสอบพลังการประมวลผล Javascript ของตัว CPU ว่าสามารถประมวลผล Javascript แบบต่างๆ ได้เร็วขนาดไหน โดยจะใช้การทดสอบผ่านทางเว็บเบราเซอร์ ซึ่งผลที่ได้จะออกมาเป็นเวลาที่ใช้ในการประมวลผล โดยยิ่งใช้เวลาน้อย ยิ่งแสดงให้เห็นว่า CPU มีพลังในการประมวลผลที่ดี
AnTuTu Benchmark
ตัวของ AnTuTu นั้นเป็นชุดแอพที่สามารถทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องได้ค่อนข้างครบถ้วนทั้ง CPU, GPU, I/O ต่างๆ โดยจะมีการรวมคะแนนออกมาเป็นคะแนนรวมของแต่ละเครื่องเพื่อช่วยให้สามารถนำไปเปรียบเทียบได้ง่าย
CF-Bench
CF-Bench เป็นแอพสำหรับทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลทั้งแบบทั่วไป และประมวลผล Java ของ CPU และ Memory เป็นหลัก โดยจะมีคะแนนแยกออกเป็นด้านๆ ให้เห็นอย่างชัดเจนเพื่อความง่ายในการนำไปเปรียบเทียบ
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่
ส่วนนี้ตัวผมไม่ได้ capture รูปหน้าจอแอพวัดระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ไว้ครับ แต่เท่าที่ลองใช้งานมา โดยการใช้งานตามปกติมีการทำงานดังนี้
- ต่อ 3G/Edge เกือบตลอดเวลา
- ความสว่างจอประมาณ 50-65%
- ใช้งานเป็นช่วงๆ เช่นการเปิด web browser, Facebook, Twitter, YouTube บ้าง, โหลดแอพจาก Play Store
ซึ่งเท่าที่ใช้งาน ก็สามารถใช้ได้ไม่ต่ำกว่า 6-7 ชั่วโมงเลยทีเดียว และเมื่อเสียบใช้งานกับคีย์บอร์ดก็ไม่ต้องห่วงเลย สามารถใช้งานเรื่อยๆ ได้เกือบทั้งวันอย่างไม่มีปัญหา โดยตัวเครื่องจะใช้พลังงานจากคีย์บอร์ดเป็นหลัก เพื่อทำการเก็บพลังงานของแบตในตัวเครื่องไว้ แต่น่าเสียดายว่ามันไม่สามารถชาร์จไฟที่อยู่ในคีย์บอร์ดเข้ามาในเครื่องได้นะครับ ทำได้แค่เพียงดึงพลังงานมาใช้ตรงๆ เลย
สรุปปิดท้าย
ASUS Transformer Pad 3G (TF300TG) เครื่องนี้เรียกได้ว่าเป็นแท็บเล็ตที่เหมาะกับการใช้งานตัวหนึ่งทีเดียว ด้วยความที่ขนาดตัวเครื่อง และประสิทธิภาพที่กำลังดี สามารถใช้งานแทนเน็ตบุ๊กได้อย่างสบายๆ แถมยังมีข้อดีที่เหนือกว่าไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ที่สามารถใช้งานได้ยาวนานกว่าเน็ตบุ๊กทั่วๆ ไป หรือความสามารถในการเชื่อมต่อกับเครือข่าย 3G แม้อาจจะไม่สามารถใช้งานทดแทนเน็ตบุ๊กได้ในบางเรื่อง เช่น งานเอกสารที่อาจทำได้ไม่ดีเท่ากับตัวโปรแกรมใน Windows แต่ก็มีแอพของ Android ที่ทำงานแทนกันได้ค่อนข้างดี ยังไม่นับรวมแอพอื่นๆ ของ Android ที่น่าสนใจและเหมาะกับการใช้งานเชิงไลฟ์สไตล์มากกว่า
แม้ผลการทดสอบประสิทธิภาพอาจจะมีความแรงสู้เครื่องรุ่นเก่าอื่นๆ ไม่ได้มากนัก แต่ก็อาจจะมาได้จากหลายๆ ปัจจัย เช่น ความเร็วคล็อกของ CPU ที่ถูกลดลงมาเล็กน้อย ประกอบกับความละเอียดจอของ ASUS Transformer Pad ที่สูงกว่าในมือถือบางรุ่น คะแนนจึงออกมาได้ไม่สูงนัก แต่ก็ยังชดเชยมาด้วยระยะเวลาการใช้งานที่จัดได้ว่ายาวนานสำหรับแท็บเล็ต ทำให้สามารถพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ได้อย่างสบาย ไม่จำเป็นต้องพกที่ชาร์จไปเลยก็ยังไหว
ดังนั้น ASUS Transformer Pad 3G เครื่องนี้น่าจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการมองหาแท็บเล็ตหรือเน็ตบุ๊กมาสำหรับใช้งานภายนอก ด้วยข้อดีต่างๆ ที่กล่าวมาในข้างต้น ทั้งนี้ตัวเครื่องน่าจะเริ่มวางขายในไทยช่วงกลางเดือนมิถุนายนหรือไม่ก็ปลายเดือนี้ครับ โดยราคาน่าจะอยู่ในช่วงหมื่นต้นถึงหมื่นกลางๆ (ไม่รวมคีย์บอร์ดแยกที่ต้องซื้อเพิ่มเอง) ใครกำลังมองหาแท็บเล็ต Android ซักเครื่องมาใช้งาน รับรองว่า ASUS Transformer Pad 3G เครื่องนี้น่าสนใจเลยทีเดียว