ปัจจุบัน เชื่อว่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตแทบจะร้อยทั้งร้อย นิยมติดฟิล์มกันรอยให้กับอุปกรณ์ของตน ด้วยจุดประสงค์รวมกันหลายๆ ข้อ ไม่ว่าจะเป็น เพื่อป้องกันกระจกหน้าจอเป็นรอย ป้องกันแรงกระแทก(ได้ในระดับหนึ่ง) เพื่อไม่ให้มีคราบรอยนิ้วมือมาบดบังหน้าจอ เพื่อลดแสงสะท้อนจากภายนอกที่สะท้อนจากจอเข้าสู่ตาเรา รวมไปถึงบางคนติดฟิล์มเพื่อทำให้หน้าจอกลายเป็นกระจกส่องหน้าก็มี ซึ่งฟิล์มกันรอยในปัจจุบันก็มีให้เลือกกันหลายเกรดแบ่งกันไปตามราคา
โดยตัวของฟิล์มกันรอยที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากก็คือฟิล์มแบบด้าน เนื่องจากทำให้สามารถลากนิ้วได้ไหลลื่นกว่าฟิล์มแบบใส แต่ก็จะมีปัญหาเรื่องสีสันและความสว่างจากจอภาพลดลงไปจากความเป็นจริง ซึ่งคงจะไม่ค่อยเป็นที่ถูกใจซักเท่าไรสำหรับผู้ที่ต้องการความสดใสของสีสันจากจอสมาร์ทโฟนที่อุตส่าห์เสียเงินซื้อมา แต่จะไปใช้ฟิล์มใสก็ไม่ลื่นมือ หรือจะลองไปหาฟิล์มรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นการรวมข้อดีของฟิล์มด้านและฟิล์มใสเข้าด้วยกัน ก็มีตัวเลือกไม่ค่อยเยอะ แถมไม่ว่าอย่างไรๆ สีก็ยังดรอป จอก็ลื่นไม่สุดอยู่ดี?ยังไม่รวมถึงปัญหาสำคัญสุดคือ ฟิล์มกันรอยในตลาดไม่ได้มีสำหรับสมาร์ทโฟนทุกรุ่นที่มีขายในตลาด จะมีก็ให้เลือกเยอะก็เฉพาะพวกรุ่นยอดนิยม เช่น iPhone, iPad, Samsung Galaxy รุ่นดังๆ ซึ่งถ้าใครใช้มือถืออินดี้ หรือรุ่นที่ไม่ติดลมบนจริงๆ คงได้เดินหาฟิล์มกันน้ำตาแทบไหลแน่นอน ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือการติดฟิล์มแบบให้ร้านตัดตามรอยให้ ก็ต้องมาลุ้นกันอีกว่าร้านจะตัดสวยและเข้ารูปขนาดไหน ส่วนวิธีการติดฟิล์มลนไฟนั้น เหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดี แต่เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากให้เครื่องของตนไปโดนลนไฟแน่ๆ
ดังนั้นในรีวิวนี้ทางเราจะขอนำเสนออีกวิธีสำหรับการปกป้องหน้าจอสมาร์ทโฟนสุดที่รักของคุณ นั่นคือตัวของ น้ำยาเคลือบจอ Liquid Armor ซึ่งที่ผ่านมามีกระแสเป็นที่พูดถึงกันมากพอตัวทีเดียว ทางเราก็ไม่พลาดที่จะหยิบมารีวิวให้ทุกท่านได้ดูกันครับ ว่ามันมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร เพื่อจะโดนใจคนที่กำลังอยากเปลี่ยนฟิล์มกันรอยหรือจะซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่กันบ้าง
ตัว Liquid Armor นั้น เป็นผลิตภัณฑ์จาก Dynaflo ในสหรัฐฯ ซึ่งนำเข้ามาโดยบริษัท Techfolio ในประเทศไทย โดยเริ่มเปิดขายครั้งแรกในงาน Thailand Mobile Expo เมื่อเดือนพฤษภาคมที่่ผ่านมา ซึ่งเท่าที่ผมลองเดินดู ก็พบว่าเป็นหนึ่งบูทในงานที่ได้รับความสนใจมากทีเดียว เนื่องด้วยเป็นสินค้าแปลกใหม่สำหรับวงการสมาร์ทโฟนในบ้านเรา
ก่อนที่จะไปดูตัวผลิตภัณฑ์ มาทำความรู้จักกับคุณสมบัติของน้ำยาเคลือบจอ Liquid Armor กันก่อนครับ
คุณสมบัติ
ภาพด้านบนเป็นภาพที่ทาง Dynaflo รวบรวมคุณสมบัติของ Liquid Armor เอาไว้ ซึ่งจุดที่น่าสนใจก็เช่น
- ตัวน้ำยามีอนุภาคระดับนาโน ทำให้สามารถเคลือบผิวหน้าจอได้ดี และแข็งตัวเป็นชั้นเคลือบจอที่บางมาก จนเหมือนไม่มีอะไรบังจอเลย
- สามารถป้องกันรอยขีดข่วนที่เกิดจากการใช้งานทั่วไปได้ดีกว่าฟิล์มกันรอยปกติ เช่นรอยที่อาจจะเกิดจากการขีดข่วนแบบบังเอิญ อย่างพวกเหรียญ พวงกุญแจ
- กันน้ำ กันรังสี UV ได้
- ลดคราบรอยนิ้วมือที่เกาะติดบนจอระหว่างใช้งาน หรือถึงจะมีคราบ ก็สามารถเช็ดออกได้ง่าย
- ป้องกันการสะสมของแบคทีเรียบนหน้าจอ
- ไม่ทำให้สีสันและความสว่างดรอปลง
- สเปรย์ขวดเดียว สามารถฉีดใช้งานได้กว่า 25 ครั้ง
- สามารถใช้งานได้กับหน้าจอทุกขนาด ตั้งแต่สมาร์ทโฟนไปถึงจอทีวี (ถ้ามีแรงทำ)
- แถมผ้าไมโครไฟเบอร์ชนิดพิเศษให้
- เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ใช้งานกับอะไรได้บ้าง
สามารถใช้งาน Liquid Armor ได้กับพื้นผิวหลากหลายชนิด แต่ที่จะได้ผลดีที่สุดคือบนกระจก ดังนั้นรับรองว่าสามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตทุกรุ่นแน่นอน รวมไปถึงบรรดาจอแสดงผลของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น จอคอมพิวเตอร์, กล้องถ่ายรูป, ทีวี, นาฬิกา, เครื่องเกมพกพา เป็นต้น ส่วนบนพลาสติกก็สามารถใช้งานได้ แต่จะให้ผลไม่ดีเท่ากับบนกระจก
คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับตัว Liquid Armor กันดีกว่าครับ
ทาง Techfolio ในไทย ได้นำผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบจอ Liquid Armor มาจำหน่ายด้วยกัน 3 ขนาด ได้แก่
ชุดเล็กสุด ราคา 490 บาท (หน้าแพ็กเกจที่ขายในปัจจุบัน จะเป็นแบบในรูปบนสุดของบทความ) ภายในจะมีผ้าชุบน้ำยามาให้พร้อมใช้งานทันที หนึ่งครั้งสามารถใช้งานกับสมาร์ทโฟนได้มากสุด 3 เครื่อง หรือจนกว่าผ้าชุบน้ำยาจะแห้ง
ชุดกลาง ราคา 990 บาท ภายในจะมีขวดน้ำยา ซึ่งฉีดน้ำยาออกมาได้ประมาณ 20-25 ครั้ง สามารถเคลือบสมาร์ทโฟนได้ราวๆ 20 เครื่อง แล้วแต่การฉีดของผู้ใช้ ว่าจะฉีดน้ำยาออกมาครั้งหนึ่งมากหรือน้อยขนาดไหน
ชุดใหญ่ ราคา 1,590 บาท ภายในก็จะมีอุปกรณ์เช่นเดียวกับชุดกลางครับ แต่มีน้ำยาสเปรย์มากกว่าชุดกลาง คือสามารถฉีีดใช้งานได้ประมาณ 50 ครั้ง เหมาะสำหรับให้ร้านค้าสั่งไปใช้บริการเคลือบน้ำยาหน้าร้าน
ซึ่งทั้งสามชุด จะแถมผ้าไมโครไฟเบอร์แบบพิเศษมาให้ แน่นอนว่าในชุดเล็ก ผ้าที่แถมก็จะมีขนาดเล็กลงมาหน่อย ด้านของราคา ถ้าหากมองว่าสูงเกินไป จะหาเพื่อนมาหารใช้งานร่วมกันก็ได้ครับ อย่างชุดเล็กสุด สามารถใช้เคลือบมือถือได้มากสุด 3 เครื่อง แต่ให้ชัวร์สุดก็คือใช้สองเครื่อง ถ้าไปหาเพื่อนมาได้อีกซักคน เท่านี้ก็ตกเหลือจ่ายคนละ 245 บาทเท่านั้น หรือชุดกลาง ถ้าใช้กัน 5 คน ก็เท่ากับเหลือจ่ายกันคนละ 198 บาท เผลอๆ ใช้งานได้มากกว่าคนละ 1 รอบด้วยซ้ำไป
หน้าตาของขวดน้ำยา Liquid Armor จากแพ็คเกจขนาดกลาง หน้าตาก็คือขวดสเปรย์ทั่วไปนี่ล่ะครับ การเก็บรักษานั้นสามารถเก็บในอุณหภูมิห้องก็เพียงพอแล้ว หรือถ้าใครจะเก็บในตู้เย็นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน (แต่อย่าเอาไปไว้ในช่องแช่แข็งนะ)
อุปกรณ์ภายในของเซ็ต Liquid Armor ชุดกลางก็จะมีขวดสเปรย์น้ำยา Liquid Armor, ผ้าไมโครไฟเบอร์และเอกสารคู่มือการใช้งานที่เป็นภาษาอังกฤษ (แต่ในล็อตหลังๆ จะเป็นภาษาไทยแล้ว)
ซึ่งของที่น่าสนใจรองลงมาจากน้ำยาก็คือตัวของผ้าไมโครไฟเบอร์นี่ล่ะครับ เพราะผ้าจะมีด้วยกันสองด้าน ด้านสีน้ำตาลอ่อนจะใช้สำหรับเช็ดฝุ่น เช็ดละอองสิ่งสกปรกบนหน้าจอ ส่วนด้านสีน้ำตาลเข้มจะใช้สำหรับเช็ดรอยคราบเปื้อน เช่นคราบรอยนิ้วมือ คราบมันจากการใช้งานโทรศัพท์ ซึ่งจากที่ลองใช้งานดู? พบว่าสามารถเช็ดคราบหน้าจอได้ดีมากทีเดียว โดยเฉพาะด้านสีน้ำตาลเข้มที่สามารถเช็ดรอยนิ้วมือและคราบมันได้หมดจดจริงๆ ส่วนการทำความสะอาดผ้า ก็สามารถนำผ้าไปซักได้ตามปกติ ห้ามใช้สารฟอกขาว ห้ามรีด ทางที่ดีควรจะซักด้วยมือในน้ำเปล่าจะดีที่สุด
มาดูแพ็กเกจขนาดเล็กกันบ้าง สำหรับ Liquid Armor แบบซองนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่อยากทดลองใช้งานดู เพราะง่ายต่อการใช้งานมากกว่าแบบสเปรย์มาก เนื่องจากภายในแพ็กเล็กจะให้มาเป็นผ้าชุบน้ำยามาในตัว สามารถฉีกซองใช้งานได้ทันที ไม่ต้องมานั่งสเปรย์อยู่เหมือนแพ็กกลางและแพ็กใหญ่ โดยภายในจะของมาให้ 3 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่ผ้าชุบน้ำยา Liquid Armor, ผ้าไมโครไฟเบอร์ผืนเล็ก และเอกสารคู่มือที่เป็นภาษาไทย
เรื่องผ้าไมโครไฟเบอร์ผืนเล็กนั้น ก็มีจุดที่แตกต่างจากผืนใหญ่แค่เรื่องเดียวคือเรื่องขนาดที่แตกต่างกันพอสมควร ส่วนด้านเนื้อผ้า คุณภาพของเส้นใย เรียกได้ว่าไม่แตกต่างจากผืนใหญ่เลย
มาถึงขั้นตอนการใช้งาน Liquid Armor แล้วครับ วิธีการใช้งานก็มีดังนี้
ทำความสะอาดจอ
ก่อนจะเคลือบน้ำยา Liquid Armor ให้จัดการดึงฟิล์มที่ใช้งานอยู่ออกก่อน พร้อมทั้งทำความสะอาด เช็ดฝุ่น เช็ดคราบเปื้อนออกให้สะอาดที่สุด
ฉีดน้ำยาลงบนผ้า
เริ่มต้นด้วยการฉีดน้ำยาลงบนผ้าไมโครไฟเบอร์ด้านสีน้ำตาลอ่อนก่อนหนึ่งครั้ง ส่วนถ้าใครใช้งาน Liquid Armor แพ็กเกจเล็กก็ไม่จำเป็นต้องทำขั้นตอนนี้เลย เพราะในแพ็กเกจจะมีผ้าชุบน้ำยามาให้แล้ว
เช็ดจอ
หลังจากพรมน้ำยาลงบนผ้าแล้ว ให้เอาผ้าผืนนั้น (หรือผ้าชุบน้ำยาจากแพ็กเกจเล็ก) มาเช็ดลงบนจอ โดยให้ค่อยๆ เช็ดไปทางเดียวกันตลอด เช่นเช็ดจากด้านบนลงล่าง สังเกตว่าเมื่อนำผ้าชุบน้ำยาเช็ดลงไปบนจอแล้ว จะมีคราบขาวเหมือนจอเปียกน้ำติดอยู่บนจอตามแนวที่เราเช็ด ซึ่งคราบขาวเหล่านั้นก็คือตัวน้ำยา Liquid Armor นั่นเอง ให้เช็ดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทั่วทั้งจอ
ตั้งทิ้งไว้ก่อน
หลังจากเคลือบน้ำยาไปทั่วจอแล้ว ให้วางเครื่องทิ้งไว้ โดยไม่สัมผัสจอเลย เพื่อปล่อยให้น้ำยาออกฤทธิ์เคลือบผิวจอก่อน ตามระยะเวลาดังต่อไปนี้
- ตั้งทิ้งไว้ 10-15 นาที (บังคับ) โดยหลังจากผ่านไปแล้ว 15 นาที ก็สามารถใช้งานเครื่องได้แล้ว
- 8 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาที่ทางผู้ผลิตแนะนำให้ตั้งเครื่องทิ้งไว้ น้ำยาถึงจะให้ผลได้ดีในระดับที่มีการทดสอบมาแล้ว
- 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการปล่อยให้น้ำยาแข็งตัวเพื่อเคลือบผิวจอ
ถ้าเป็นไปได้ แนะนำให้ตั้งเครื่องหลังเคลือบน้ำยาทิ้งไว้ซัก 1 วันครับ เพื่อให้น้ำยาสามารถเคลือบจอได้ดีที่สุด โดยหลังจากตั้งทิ้งไว้ได้ตามระยะเวลาที่ต้องการแล้ว ก็ให้ใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดคราบขาวที่จอออกได้เลย เพียงเท่านี้ก็จะสามารถใช้งาน Liquid Armor บนจอสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตเราได้แล้ว ส่วนถ้าใครเปิดสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ตทิ้งไว้แล้วกลัวแบตหมดระหว่างตั้งเครื่องทิ้งไว้ ก็สามารถเสียบสายชาร์จได้ตามปกติ หรือถ้าพ้นช่วง 15 นาทีแรกไปแล้ว จะยกขึ้นมาโทรศัพท์ก็ได้ แต่พยายามให้มือหรือหน้าไปสัมผัสจอให้น้อยที่สุด เพื่อปล่อยให้น้ำยามันทำงานได้เต็มที่
ส่วนใครที่อยากเห็นขั้นตอนการทำแบบเป็นวิดีโอ สามารถดูได้จากคลิปของ Dynaflo เอง ด้านล่างนี้ครับ
ทดสอบการใช้งาน
ส่วนตัวผมลองเคลือบน้ำยา Liquid Armor บน iPad mini ครับ โดยปล่อยให้น้ำยาเคลือบทิ้งไว้ 1 วันแล้วค่อยเช็ดออก ผลที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือสีสันและความสว่างที่ดีขึ้นกว่าตอนติดฟิล์ม เพราะไม่มีอะไรบดบังจอ
ด้านการป้องกันรอยขีดข่วน ในจุดนี้ทางทีมงานของ Techfolio ให้ข้อมูลแบบตรงๆ เลยว่า Liquid Armor สามารถปกป้องหน้าจอได้ในระดับหนึ่ง อย่างพวกร่องรอยที่อาจมาจากความบังเอิญ เช่น เวลาเก็บมือถือลงในกระเป๋าแล้วจอไปขูดกับเหรียญหรือลูกกุญแจ แต่ถ้ารอยที่เกิดจากความตั้งใจ หรือถูกขูดแรงๆ อันนี้ตัว Liquid Armor ก็คงป้องกันให้ไม่ไหวเหมือนกัน ส่วนวัตถุอีกประเภทที่ Liquid Armor ไม่สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ก็คือเม็ดทราย ก้อนกรวด ดังนั้นเวลาใช้งาน เวลาเก็บเครื่องก็ต้องระวังซักเล็กน้อย โดยเฉพาะคนที่ใส่เคสแบบมีฝาพับปิดจอ ที่ฝาส่วนสัมผัสกับจอเป็นผ้า ซึ่งอาจจะมีเม็ดทรายเข้าไปฝังอยู่ในผ้า เพราะเม็ดทรายเหล่านั้นอาจจะไปขูดกับจอที่เคลือบ Liquid Armor ไว้ก็เป็นได้ นับว่าเป็นข้อพึงระวังอย่างหนึ่ง
ซึ่งในภาพด้านบน ผมลองเอาเหรียญมาถูๆ บนจอดู ก็พบว่าไม่มีรอยอะไรเกิดขึ้นเลย จะมีก็แต่พวกคราบมันเล็กๆ น้อย ซึ่งสามารถใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ด้านสีน้ำตาลเข้มเช็ดออกได้สบายๆ ภาพซ้ายคือภาพก่อนเช็ด ส่วนภาพขวาคือหลังจากเช็ดจอด้วยผ้าไมโครไฟเบอร์ที่แถมมาในเซ็ตแล้วครับ
ต่อมาลองเอาน้ำหยดลงบนจอดูบ้าง เพราะทางทีมงานบอกว่า ถ้าเคลือบจอด้วย Liquid Armor แล้ว น้ำจะไม่เกาะบนจอ หรือมีเกาะน้อยมาก น้ำจะรวมกันเป็นหยด สามารถกลิ้งบนจอได้คล้ายๆ หยดน้ำบนใบบัวเลยทีเดียว ซึ่งจากที่ลองทำดู ก็พบว่ามีหยดน้ำติดบนจอน้อยกว่าจอที่ติดฟิล์มกันรอยตามปกติจริงครับ
อย่างในภาพเซ็ตด้านบน แท็บเล็ตเครื่องที่ขอบจอหนากว่า เป็นแท็บเล็ตเครื่องที่ติดฟิล์มกันรอยตามปกติ ส่วนเครื่องที่ขอบจอน้อยกว่าคือ iPad mini ที่เคลือบน้ำยา Liquid Armor ไว้ จะเห็นว่าลักษณะของหยดน้ำมีความแตกต่างกัน คือบน iPad mini หยดน้ำจะมีลักษณะกลมกว่า สามารถกลิ้งบนจอได้คล้ายหยดน้ำบนใบบัวจริงๆ เมื่อเทน้ำออกจากจอก็เหลือหยดน้ำค้างอยู่เพียงเล็กน้อย (ถ้าเคลือบดีกว่านี้ จะแทบไม่เหลือหยดน้ำบนจอเลย)
คำถามที่น่าสนใจ
ตัวผมเองมีโอกาสได้สอบถามกับทางทีมงาน Techfolio เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ดูครับ เลยขอนำคำถาม คำตอบในประเด็นที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน
Q: หลังเคลือบ Liquid Armor ไปแล้ว ตัวน้ำยาสามารถใช้งานได้นานเท่าไร ?
A: ในกรณีที่ดีที่สุด สามารถใช้งานได้นานถึง 6 เดือน โดยที่ไม่ต้องเคลือบใหม่ แต่ถ้าเราเป็นคนที่ใช้งานสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ที่เคลือบน้ำยาไว้บ่อยๆ แนะนำว่าควรเคลือบใหม่ทุกๆ 3 เดือน
Q: ถ้าหน้าจอมีรอยขนแมวอยู่แล้ว สามารถใช้งานได้หรือไม่ ?
A: สามารถเคลือบน้ำยา Liquid Armor ได้ โดยนอกเหนือจากจะช่วยป้องกันกระจกจอแล้ว ตัวน้ำยายังสามารถซึมเข้าไปอุดช่องที่เป็นรอยขนแมวได้ด้วย (แต่ต้องเป็นรอยบางๆ นะ) โดยตัวน้ำยาจะค่อยๆ เคลือบทับรอยไปเรื่อยๆ รอยอาจจะไม่หายไป แต่ร่องจะตื้นขึ้น ช่วยให้ใช้งานได้ลื่นมือขึ้นกว่าเก่า
Q: ยิ่งเคลือบทับหลายๆ ชั้น จะยิ่งช่วยให้ปกป้องหน้าจอได้ดีขึ้นหรือเปล่า ?
A: ไม่ช่วยเท่าไรครับ แนะนำว่าให้เก็บน้ำยาไปไว้เคลือบทับช่วงที่ผ่านไปแล้ว 3 เดือนหลังเคลือบครั้งแรกจะดีกว่า
Q: ถ้าต้องการจะเคลือบ Liquid Armor ทับลงไปบนฟิล์มกันรอยที่ติดอยู่ในปัจจุบัน สามารถทำได้หรือไม่ จะช่วยให้ป้องกันได้ดีขึ้นไปอีกหรือเปล่า? ?
A: สามารถเคลือบได้ครับ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะหน้าจอเองก็มีฟิล์มกันรอยเอาไว้อยู่แล้ว
Q: สามารถหาซื้อ Liquid Armor ได้ที่ไหน ?
A: สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถหาซื้อชุดน้ำยา Liquid Armor ได้จากหน้าร้าน Jaymart หรือจะเข้าไปสั่งซื้อจากในเพจ Facebook ของ Techfolio ได้ โดยการค้นหาคำว่าฟิล์มล่องหนในช่องค้นหาของ Facebook (ลิ้งค์เพจ)
Q: ถ้าไม่มั่นใจฝีมือตัวเอง สามารถให้ทางทีมงาน Techfolio ทำให้ได้หรือเปล่า ?
A: ได้ครับ โดยให้ติดต่อไปทาง Techfolio ที่เบอร์?089-5324744 เพื่อรับคำปรึกษา หรือนัดหมายกับทางทีมงานได้เลย
Q: ที่ผ่านมา มีกระแสตอบรับเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรหรือไม่ ?
A: ส่วนใหญ่ลูกค้ามีกระแสตอบรับมาค่อนข้างดี เรื่องปัญหา หลักๆ ก็จะเป็นเรื่องขวดสเปรย์หัวฉีดตัน ซึ่งก็สามารถติดต่อทาง Techfolio เพื่อขอเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ได้
Q: ในปัจจุบัน ฟิล์มกันรอยเองก็มีบางรุ่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือดีกว่า Liquid Armor เช่น ไม่ทำให้สีเพี้ยน/ซีดลง สัมผัสหน้าจอได้ลื่น แล้วในจุดนี้ Techfolio จะเอาจุดเด่นอะไรไปแข่งกับฟิล์มประเภทดังกล่าว ?
A: ถ้าในเรื่องของการใช้งานทั่วไป ต้องยอมรับว่า Liquid Armor สามารถใช้งานได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น แถมบางจุดฟิล์มกันรอยยังทำได้ดีกว่าด้วย แต่ฟิล์มกันรอยจะเสียเปรียบตรงที่ผู้ใช้จำเป็นจะต้องติดฟิล์มให้ตรงกับรุ่นของตนเอง จึงจะสามารถใช้งานได้ดี และได้ฟิล์มตามประเภทที่ผู้ใช้ต้องการ แต่ Liquid Armor จะไม่มีข้อจำกัดตรงจุดนี้ สามารถใช้งานได้กับทุกเครื่อง แต่ถ้ากับกลุ่มของเครื่องยอดนิยมด้วยกัน Liquid Armor ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แล้วแต่ว่าทางผู้ใช้งานจะเลือกใช้ตัวไหน
Q: ในอนาคต Techfolio จะรับผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาจำหน่ายเพิ่มเติมหรือไม่ ?
A: ไม่แน่ อาจจะมีกระจกนิรภัยสำหรับติดหน้าจอสมาร์ทโฟนเข้ามาขายในภายหลังครับ
ความเห็นส่วนตัว
Liquid Armor มีข้อดีที่เห็นได้ชัดเลยก็คือสามารถใช้งานได้กับสมาร์ทโฟนทุกเครื่อง แถมยังสามารถทำได้เองง่ายๆ ต่างจากฟิล์มที่ต้องหาให้ตรงรุ่น หรือไม่ก็ให้ร้านตัดเข้ารูปเครื่องเอา จะติดเองก็ต้องระวังฟองอากาศ รวมไปถึงการติดที่อาจจะเบี้ยว ทำให้ต้องใช้เวลาในการติดนาน ส่วนเรื่องการปกป้องจอ ก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่งครับ อาจจะทำได้ไม่ถึงขั้นฟิล์มกันรอย เพราะ Liquid Armor เป็นเพียงแค่ชั้นน้ำยาป้องกันกระจกอยู่บางๆ ดังนั้นการใช้งานหรือพกพาเครื่องก็ต้องระวังไม่ให้ไปขูดกับวัตถุแบบแรงๆ ส่วนถ้าในด้านของร่องรอยทั่วไป ก็สามารถทำได้ดีพอสมควร แต่ในประเด็นนี้ ก็คงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์นานพอสมควร อย่างต่ำก็ 3 เดือนเป็นต้นไปครับ ถึงจะประเมินประสิทธิภาพของ Liquid Armor ได้ตรงตามความเป็นจริงที่สุด
และอีกอย่างที่ผมประทับใจก็คือ ผ้าไมโครไฟเบอร์ที่แถมมาให้ในแพ็กเกจครับ ใช้ดีจริงๆ นะ ^^