หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน Google ผู้เป็นเจ้าของระบบปฏิบัติการ Android ก็เคยมีมือถือและแท็บเล็ตของตนเอง ซึ่งเป็นการว่าจ้างให้บริษัทต่างๆ ผลิตให้ เพื่อใช้สำหรับเป็นเครื่องต้นแบบในการการันตีสเปคมาตรฐานในแต่ละปี นั่นก็คือผลิตภัณฑ์ในตระกูล Nexus ทั้งหลาย โดยสเปคที่ออกมาก็จะอยู่ในระดับบน แต่เปิดราคามาในระดับกลางๆ ซึ่งแต่ละรุ่นก็ได้รับความนิยมพอสมควร แต่จุดอ่อนที่เป็นเหมือนกับแทบทุกรุ่นก็คือกล้องถ่ายรูปที่ยังสู้มือถือที่มีสเปคใกล้เคียงกันได้ยาก อย่างส่วนตัวผมเองเคยใช้ Nexus 4 และ Nexus 5 มาก่อน ก็ยอมรับเลยว่าด้านระบบมันลื่นมากจริงๆ แต่เรื่องกล้องก็ไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็นอยู่เหมือนกัน
แต่พอ Google ปรับกลยุทธ์ เปลี่ยนชื่อซีรีส์มือถือของตนเองมาเป็น Pixel ที่ผ่านการออกแบบฮาร์ดแวร์ทั้งภายนอกและภายในเอง แล้วจึงไปจ้างบริษัทอื่นให้ผลิตตามคำสั่ง กลับกลายเป็นว่า Google เลือกที่จะชูเทคโนโลยีเรื่องกล้องเป็นหลัก และก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการทดสอบที่ติดเป็นอันดับต้นๆ จนกลายเป็นมือถือสำหรับเทียบความสามารถด้านกล้องมือถือ รวมถึงความรู้สึกของผู้ใช้ที่ให้กระแสตอบรับกับ Google Pixel เป็นอย่างดี (เสียก็แต่ว่าหาซื้อลำบากนิดหน่อย)
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา Google ก็ได้ฤกษ์ส่ง Google Pixel 2 และ Google Pixel 2 XL ออกมาต่อยอด ด้วยการปรับดีไซน์เล็กน้อย ปรับสเปคเป็นระดับท็อปของปี 2017-2018 และที่สำคัญคืออัพเกรดความสามารถด้านกล้องเข้ามาอีก ด้วยการผสานเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยประมวลผลภาพ ทำให้ Pixel 2 และ Pixel 2 XL ทำคะแนนผลทดสอบกล้องจากเว็บไซต์ DxOMark แซงหน้าตัวท็อปรุ่นอื่นๆ ขึ้นมาได้อีกครั้ง ซึ่งประจวบเหมาะกับที่ผมต้องการเปลี่ยนมือถือพอดี ก็เลยไปหาซื้อ Google Pixel 2 XL มาใช้งานส่วนตัว พร้อมกับทำรีวิวไปด้วยเลยครับ โดยในรีวิวนี้ก็เป็นการรีวิวหลังจากใช้งานเต็มๆ มาแล้วร่วม 1 เดือน ก่อนจะชมรีวิวเต็มๆ มาดูสเปค Google Pixel 2 XL กันก่อนว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง
สเปค Google Pixel 2 XL
- ชิปประมวลผล Qualcomm Snapdragon 835 มี 8 คอร์ ความเร็ว 4x 2.35 GHz และ 4x 1.9 GHz
- ชิปกราฟิก Adreno 540
- แรม 4 GB
- รอม 64 / 128 GB ไม่มีช่องใส่ MicroSD
- หน้าจอ pOLED แสดงสีได้ 100% ของมาตรฐาน P3 ขนาด 6 นิ้ว ความละเอียด 2880 x 1440 (QHD+) อัตราส่วนแบบ 18:9 กระจกหน้าจอ Gorilla Glass 5
- Android 8.0 Oreo รองรับการอัพเดต OS ได้ยาวๆ อย่างต่ำ 3 ปี
- กล้องหลังตัวเดียว 12.2 ล้านพิกเซล f/1.8 Dual Pixel PDAF เม็ดพิกเซลขนาด 1.4 ไมครอน มี OIS, Laser focus, PDAF สามารถถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้ โดยใช้ AI ช่วยประมวลผล
- กล้องหน้า 8 ล้านพิกเซล f/2.4
- USB-C รองรับ PD 2.0
- เซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือด้านหลัง
- Bluetooth 5.0, WiFi a/b/g/n/ac dual-band
- รองรับ 4G ทุกเครือข่ายในไทย รองรับ 3CA แต่ไม่สามารถใช้ VoLTE และ VoWIFI จากเครือข่ายได้โดยตรง
- รองรับแค่ซิมเดียว แบบนาโนซิม
- แบตเตอรี่ความจุ 3520 mAh
- กันน้ำกันฝุ่นตามมาตรฐาน IP67
- น้ำหนักแค่ 175 กรัม
- ไม่มีช่องเสียบแจ็คหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร !!
- มีให้เลือก 2 สี: ดำ (Just Black) และสีขาว-ดำ (Panda)
- ราคา Google Pixel 2 XL: เริ่มต้นที่ $849 (ประมาณ 26,400 บาท)
ด้านบนนี้คือสเปคของ Pixel 2 XL ครับ ส่วนถ้าเป็น Pixel 2 นั้นก็จะมีบางจุดที่แตกต่างกัน เช่น หน้าจอจะเป็น AMOLED 5 นิ้ว อัตราส่วน 16:9 รวมถึงแบตลดลงมาเหลือ 2700 mAh ส่วนอื่นๆ จะใกล้เหมือนกันแทบทั้งหมด ดังนั้นปัจจัยในการตัดสินใจว่าจะเลือกรุ่นไหนก็อยู่ที่ขนาดหน้าจอ แบต และราคาเป็นหลักเลย สำหรับราคาเครื่องหิ้วของ Pixel 2 มือหนึ่งในไทยตามร้านดังๆ จะอยู่ในช่วง 20,000 – 25,000 บาท ส่วนราคาเครื่องหิ้วของ Pixel 2 XL มือหนึ่งในไทยก็จะเริ่มต้นที่ 27,000 – 32,000 บาท
Design / การออกแบบ
หากมองจากสเปค จะเห็นว่า Google Pixel 2 XL ใช้จอขนาด 6 นิ้ว แต่ด้วยการที่อัตราส่วนจอเป็นแบบ 18:9 ทำให้ขนาดจอที่เพิ่มขึ้น มันไปตกอยู่ที่ด้านยาวแทน เลยทำให้ขนาดเครื่องจริงๆ ไม่ได้ใหญ่เทอะทะเหมือนมือถือจอ 6 นิ้วสมัยก่อน ความรู้สึกของการจับถือเครื่องระหว่างใช้งานก็ไม่ได้แตกต่างจากมือถือจอ 5.5 นิ้วเท่าไหร่ สำหรับผู้ที่เคยชินกับอัตราส่วนจอ 16:9 แล้ว พอได้มาลองใช้งานจอ 18:9 อาจจะรู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ต่างจากเดิมเท่าไหร่ แต่ถ้าหากเปลี่ยนกลับไปใช้จอ 16:9 อีกรอบ หลายๆ ท่านน่าจะรู้สึกถึงความแตกต่างได้ชัดเลยครับ ว่าอัตราส่วน 16:9 มันดูอึดอัดไปถนัดใจเลย ประกอบกับความละเอียดจอ Pixel 2 XL ที่สูงมาก ทำให้การแสดงผลในทุกจุดคมกริบ รวมถึงยังมีฟีเจอร์ Ambient Display ที่การทำงานมันก็เหมือนกับ Always-On Display ของฝั่ง Samsung ที่หลายๆ คนน่าจะคุ้นหูกันดี ซึ่งหน้าจอจะแสดงนาฬิกาและการแจ้งเตือนแม้ล็อคหน้าจอไปแล้ว หากผู้ใช้เก็บเครื่องใส่กระเป๋า หรืออยู่ในท่าทางที่สายตาไม่ได้อยู่กับหน้าจอ จอก็จะดับไปเอง และเมื่อผู้ใช้ยกเครื่องขึ้นมา หน้าจอของ Ambient Display ก็จะติดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ช่วยลดอัตราการกินแบตลงไปอีก
สำหรับในภาพด้านบน เป็น Pixel 2 XL ที่ผมติดกระจกกันรอยแบบพอดีกับขอบจอด้านข้างไปแล้ว จะเห็นว่าตรงริมกระจกแต่ละด้านจะมีพื้นที่ฟองอากาศอยู่ ทั้งนี้ก็เป็นปัญหาปกติสำหรับมือถือที่มีขอบจอโค้งครับ หากกระจกไม่ได้เป็นแบบขอบโค้งลง ก็จะเหลือพื้นที่กระจกลอยอยู่แบบในภาพด้านบน
เรื่องการแสดงผลของจอภาพ Google Pixel 2 XL เลือกใช้พาเนลจอแบบ pOLED ที่มีคุณสมบัติเด่นกว่า OLED แบบปกติในบางจุด เช่น พาเนลบางกว่า OLED ปกติ และความทนทานสูงกว่า ส่วนในด้านการแสดงผลนั้นมีความแตกต่างกันน้อยมาก โดยไปขึ้นอยู่กับการปรับจูนของผู้ผลิตมากกว่าว่าต้องการให้ภาพออกมาเป็นโทนสีแบบใด สำหรับใน Pixel 2 XL นี้ สีจากจอภาพโดยรวมจะไม่สดมากนัก ถ้าไปเทียบกับมือถือเครื่องอื่นๆ ก็บอกได้เลยว่าจอ Pixel 2 XL สีจืดกว่าอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะมีตัวเลือกปรับเร่งสี 3 ระดับ (ปกติ, boosted และ saturated) เป็นแบบ saturated แล้วก็ตาม แต่สีที่ได้มันก็เข้มเกินจนทำให้ปวดตา ส่วนตัวผมเลยปรับลงมาเลือกแค่ระดับ boosted ที่เป็นระดับกลางๆ แทนครับ ดังนั้นก็พอสรุปได้ว่า โทนสีของจอ Pixel 2 XL อาจจะไม่ค่อยถูกใจคนชอบจอสีสดๆ ซักเท่าไหร่ ส่วนการแสดงสีได้ถึงระดับ 100% มาตรฐาน P3 ก็ดูจะเกินระดับการใช้งานทั่วไปซักหน่อย อีกอย่าง ถึงมันแสดงได้จริง แต่โทนสีโดยรวมมันก็อมซีดๆ อยู่ดี
ข้อที่จัดเป็นปัญหาใหญ่สำหรับจอ pOLED ของ Pixel 2 XL ก็คือปัญหาการ burn-in ของหน้าจอในเครื่องล็อตแรกๆ ที่อาจเกิดได้เมื่อมีการแสดงผลรูปแบบเดียวบนจุดเดิมติดต่อกันนานๆ โดยช่วงที่ผ่านมา จุดที่พบปัญหามากสุดคือแผงปุ่ม navigation keys ด้านล่าง เพราะเป็นบริเวณที่มีการแสดงผลรูปแบบเดิมๆ แทบจะตลอดเวลาที่ใช้งาน ผลที่เกิดขึ้นก็คือจะมีภาพของ 3 ปุ่มติดอยู่บนจอตลอด ซึ่งในจุดนี้ Google เองก็แก้ไขปัญหาทั้งส่วนของการผลิตในล็อตหลังๆ รวมถึงออกแพทช์แก้ไขให้ตัวปุ่มปรับสี/ความสว่างการแสดงผลลง หลังจากผู้ใช้กดไปแล้วประมาณ 3 วินาที
สำหรับเครื่องที่ผมได้มานี้ เป็นล็อตเดือนพฤศจิกายน และยังไม่พบปัญหาจอเบิร์นแต่อย่างใดครับ
อีกปัญหาที่พบกันก็คือสีหน้าจอจะอมฟ้าเมื่อเอียงจอ (blue-shift) ซึ่งจะเห็นได้ชัดบนพื้นที่สีขาว ตรงจุดนี้ก็มีข่าวว่า Google ทำการแก้ไขแล้วในเครื่องล็อตหลังๆ มา ส่วนเครื่องผมเอง เท่าที่ลองเอียงเครื่องดู ก็ยังพบปัญหานี้อยู่บ้างเหมือนกันครับ แต่ไม่ได้เป็นจุดที่ผมกังวลเท่าไหร่ เพราะมันไม่ได้เยอะอย่างที่มีคนพบในเครื่องล็อตแรก รวมถึงการใช้งานโดยทั่วไปคือผมใช้แบบดูหน้าจอตรงๆ อยู่แล้ว เลยไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่อะไร ให้เทียบกันแล้ว ผมกลัวเรื่องจอเบิร์นเร็วซะมากกว่าอีก
ด้านบนหน้าจอของ Google Pixel 2 XL จะเป็นพื้นที่สำหรับวางกล้องหน้า ลำโพง และเซ็นเซอร์เท่าที่จำเป็นตามปกติ สำหรับการเลือกกระจกกันรอยหน้าจอ อาจจะต้องเลือกแบบที่มีเจาะช่องเว้นไว้ให้กับเซ็นเซอร์วัดแสง/วัดระยะห่างด้วย เพราะมีหลายท่านพบปัญหาจอมืดเวลามีสายโทรศัพท์เข้ามา สาเหตุก็น่าจะมาจากเซ็นเซอร์วัดระยะห่างมันไปพบกับกระจกหน้าจอกั้นอยู่ ทำให้ระบบนึกว่าผู้ใช้เอาเครื่องขึ้นมาแนบหูแล้ว ทำให้หน้าจอมันดับลงไปครับ
ส่วนด้านล่างก็มีแค่ช่องลำโพง ซึ่งภายในมีไมค์สนทนาซ่อนอยู่ด้วย สำหรับระบบเสียงของลำโพง Google Pixel 2 XL จะเป็นแบบสเตอริโอ เสียงออกทั้งลำโพงด้านบนและล่างของจอ มิติเสียงจัดว่าดีกว่าลำโพงระบบเสียงโมโนในมือถือทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด
ด้านหลังของ Google Pixel 2 XL จะมีการแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างเห็นได้ชัด ฝั่งบนเป็นกระจกสีดำ ซึ่งดึงดูดฝุ่นได้ดีมากๆ ที่จะมีกล้องหลังนูนขึ้นมาจากพื้นผิวเล็กน้อย ใกล้ๆ กันคือแฟลช LED ส่วนซีกล่างจะเป็นอลูมิเนียมที่ทำผิวให้มีความสากมือ ให้สัมผัสที่ดี ตรงกลางเป็นจุดของเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่ Google ตั้งชื่อให้ว่าระบบ Pixel Imprint สำหรับการใช้งานจริงก็บอกเลยว่าสแกนได้เร็วมากๆๆ ด้านล่างสุดก็เป็นโลโก้ G ของ Google ซึ่งทำจากโลหะติดมาให้ พร้อมมีโลโก้/ข้อความรับรองมาตรฐานการผลิตต่างๆ อีกเล็กน้อย ที่สำคัญคือเครื่องนี้ผลิตที่ประเทศเกาหลีใต้ โดย LG เจ้าเก่าเจ้าเดิมนั่นเองครับ (ส่วน Pixel 2 นั้นได้ HTC เป็นผู้ผลิตให้)
จากภาพด้านบนจะเห็นว่ากล้องหลังนูนขึ้นมาจากฝาหลังจริงๆ โดยมีขอบอลูมิเนียมล้อมรอบกระจกปิดหน้าเลนส์อยู่ ส่วนพวกเลเซอร์ช่วยโฟกัสจะซ่อนอยู่ตรงตำแหน่งล่างถัดลงมาจากแฟลชเล็กน้อย ถ้าจอดีๆ จะเห็นว่ามีวงกลมสีดำเล็กๆ 2 จุดวางอยู่ใกล้กันในระนาบเดียวกันอยู่นะครับ
มาดูด้านข้างของ Google Pixel 2 XL กันบ้าง สำหรับในภาพชุดนี้ เป็นการถ่ายหลังจากผมติดกระจกกันรอยหน้าจอไปแล้ว เลยจะเห็นว่ามีกระจกแปะอยู่แบบค่อนข้างชัดเจนไปหน่อย สำหรับช่องเชื่อมต่อและปุ่มกดต่างๆ ก็จะกระจายไปดังนี้
- ด้านบน: ช่องรับเสียงไมค์สนทนา, ไมค์รับเสียงเวลาถ่ายวิดีโอ
- ด้านล่าง: ช่อง USB-C
- ด้านซ้าย: ถาดใส่นาโนซิม
- ด้านขวา: ปุ่ม Power และแถบปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง
เรื่องน้ำหนักและความบางของเครื่อง ต้องบอกว่าเกินคาดมากๆ เพราะมันเบาและบางกว่าที่คิดไว้เยอะ เผลอๆ จะเบากว่ามือถือบางรุ่นที่จอเล็กกว่านี้ด้วยซ้ำไป ต้องยอมรับว่าทีมออกแบบเครื่องของ Google ทำงานได้ดีมากๆ ในจุดนี้ แม้ว่าหน้าตาโดยรวมจะดูเชยและแปลกไปหน่อยก็ตาม
ลองเทียบขนาดกับมือถือจอ 5.5 นิ้ว 16:9 ดูครับ จะเห็นว่าขนาดตัวเครื่องต่างกันนิดเดียวเท่านั้นเอง แต่ได้พื้นที่แสดงผลจอที่ต่างกันเยอะมาก (จอ Pixel 2 XL ขนาด 6 นิ้ว)
ดูเครื่องไปแล้ว ทีนี้ย้อนมาดูกล่องกับอุปกรณ์ภายในกันบ้างครับ สำหรับด้านหลังกล่องก็จะพบกับพื้นที่สีฟ้าขนาดใหญ่ พร้อมแฮชแท็ก #teampixel ส่วนพวกสเปค ฟีเจอร์ และรายละเอียดการผลิตอื่นๆ จะไปอยู่ด้านข้างทั้งหมด เช่น ล็อตของเดือนที่ผลิต เป็นต้น
อุปกรณ์ภายในที่ให้มาก็มีดังนี้
- สายชาร์จ USB-C ทั้งสองฝั่ง รองรับ Power Delivery 2.0 (PD)
- สายแปลง USB-C เป็น 3.5 มิลลิเมตรสำหรับเสียบสายหูฟังปกติ
- หัวแปลง USB-C เป็น USB-A ปกติ
- อะแดปเตอร์ USB-C รองรับ PD สามารถจ่ายไฟได้ทั้ง 5V 3A และ 9V 2A
- เข็มจิ้มถาดซิม
โดยเครื่องที่ผมได้มา ข้างกล่องระบุไว้ว่าเป็นล็อตสำหรับประเทศอินเดีย ดังนั้นปลั๊กที่ได้มาก็จะเป็นแบบ Type D คือขากลม 2 ขา ถ้านำมาใช้ในประเทศไทยก็สามารถใช้กับปลั๊กพ่วง หัวแปลงปลั๊กได้ แต่อาจจะมีปัญหานิดหน่อย เพราะขาปลั๊กจะสั้นกว่าปกติเล็กน้อย ทำให้อะแดปเตอร์หลุดจากปลั๊กไฟง่ายกว่าปลั๊กประเภทอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกัน
ส่วนหูฟัง ไม่มีแถมมาให้นะครับ แต่ในตอนที่เปิดตัว Google ก็มี Pixel Buds มาขายด้วยเหมือนกัน ส่วนถ้าต้องการใช้หูฟังอื่นๆ ร่วมกับ Pixel 2 / Pixel 2 XL ก็แนะนำว่าควรเป็นหูฟัง Bluetooth ไป หรือจะหาหูฟัง USB-C ก็ได้ ส่วนถ้าหากมีหูฟังแจ็ค 3.5 มิลลิเมตรเดิมอยู่แล้ว ก็คงต้องนำมาต่อใช้งานผ่านสายแปลงที่แถมมาในกล่องเท่านั้น เพราะผมลองเอาสายแปลง USB-C เป็น 3.5mm ของ Xiaomi มาลอง พบว่าไม่สามารถใช้งานร่วมกับ Pixel 2 XL ได้ ทั้งนี้ก็เนื่องจากระบบมันจำเป็นต้องใช้ร่วมกับสายแปลงที่มี DAC ในตัวเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ในสายแปลงที่แถมมาในกล่องเท่านั้น หากจะหาซื้อสายแปลงอื่นๆ ก็ต้องแน่ใจว่ามันมี DAC สำหรับถอดรหัสแล้วแปลงเสียงเป็นอนาล็อกมาด้วย หรือไม่งั้นก็ซื้อ DAC จริงๆ ไปเลยก็ได้จ้า
Feature / ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
Active Edge
เรียกง่ายๆ ก็คือฟีเจอร์บีบเครื่องก็ว่าได้ครับ พูดจริงๆ ก็ไม่ได้เป็นฟีเจอร์ที่ใหม่อะไร เพราะ HTC เป็นรายแรกที่นำเสนอฟีเจอร์นี้มาตั้งแต่ปีก่อนนู้นแล้ว การใช้งานก็เพียงแค่ผู้ใช้บีบด้านข้างตัวเครื่อง ระบบก็จะเรียก Google Assistant ขึ้นมารอรับการสั่งงานจากผู้ใช้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการเรียกผู้ช่วยมาใช้งาน จากที่แต่เดิมจะเป็นการกดปุ่มโฮมค้างไว้ หรือพูดว่า Hey Google รอบนี้ใน Pixel 2 XL ก็สามารถบีบเครื่องเพื่อเรียกใช้ได้เลย ช่วยเพิ่มความสะดวกได้มากเหมือนกัน
นอกจากการเรียก Google Assistant แล้ว ผู้ใช้ยังสามารถบีบเครื่องเพื่อปิดเสียงปลุก เสียงเรียกเข้าได้ด้วย รวมถึงยังสามารถปรับระดับความแรงของการบีบ เพื่อป้องกันการเรียก Google Assistant ขึ้นมาแบบไม่ตั้งใจได้อีกต่างหาก ทั้งหมดนี้สามารถปรับแต่งได้ที่เมนู Settings > System > Gestures > Active Edge ครับ
Now Playing
เป็นฟีเจอร์ที่น่าสนใจในแง่ของการทำงานอยู่เหมือนกันครับ หน้าที่ของมันคือแสดงชื่อเพลงที่ผู้ใช้และเครื่องได้ยิน เช่น เวลาไปนั่งในร้านกาแฟที่เปิดเพลงอยู่ Pixel 2 XL ก็จะใช้เวลาซักพักหนึ่ง แล้วแสดงข้อมูลขึ้นมาให้บนหน้าจอล็อคสกรีนว่าเพลงที่ได้ยินคือเพลงอะไร จากศิลปินใด ที่เด็ดสุดก็คือฟีเจอร์นี้ทำงานแบบออฟไลน์ !! กล่าวคือ มันสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องรับส่งข้อมูลผ่านอินเตอร์เน็ตเลย ต่างจากแอปอย่าง Shazam และ Soundhound ที่แอปจะจับเสียง แล้วประมวลผลและรับข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต แต่ Now Playing นี้ทำได้จากในเครื่องเลย
ผมก็เลยลองหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามันทำได้อย่างไร ก็ได้คำตอบมาว่า ที่จริงแล้ว Google แอบใส่ฐานข้อมูลเพลงไว้ในทุกเครื่อง โดยมีจำนวนอยู่ที่หลักหมื่นเพลง ซึ่งจะมีแค่บางส่วน และบางเพลงเท่านั้น กินพื้นที่ในระบบราวๆ 500 MB (น่าจะมีการอัพเดตฐานข้อมูลเรื่อยๆ) ทำให้มันสามารถระบุเพลงที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมในปัจจุบันได้ ซึ่งผมทดสอบด้วยการเปิด airplane mode เพื่อตัดการเชื่อมต่อทั้งหมด แล้วให้ Pixel 2 XL ฟังเพลงดู พบว่ามันสามารถระบุเพลงได้บางส่วน บางเพลงที่เก่าหน่อยก็รู้จักบ้าง ไม่รู้จักบ้าง ส่วนเพลงไทย…ไม่รู้จักเลยจ้า
สำหรับเพลงที่ค่อนข้างดังหน่อย และระบบรู้จัก หากผู้ใช้กดที่ชื่อเพลงบนหน้าล็อคสกรีน ระบบก็จะเรียก Google Assistant ขึ้นมาแสดงข้อมูลเพลงนั้นๆ อย่างในภาพด้านบนที่เป็นข้อมูลของเพลง Shape of You ของ Ed Sheeran และสามารถตามไปฟังต่อจาก YouTube ได้อีกด้วย
AR Stickers
เป็นของเล่นที่อยู่ในกล้องถ่ายรูป Pixel 2 XL ครับ แต่น่าจะเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจมากๆ ในปีนี้ ความสามารถของมันก็คือการเพิ่มวัตถุเสมือนจริงเข้าไปในฉากด้วยรูปแบบของ AR โดยมันจะไปอยู่บนพื้นที่จริงๆ ในภาพ มีการเคลื่อนไหวเสมือนว่ามีชีวิต ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอเอาไว้ได้ (ตัวอย่างดังภาพด้านล่าง) สำหรับการเรียกใช้ก็ง่ายมาก เพียงแค่เปิดใช้โหมด AR Stickers ในแอปกล้อง หากเป็นการใช้งานครั้งแรก ระบบจะให้ผู้ใช้ถ่ายรูปพื้น เพื่อการกะระยะที่แม่นยำของระบบก่อน จากนั้นก็สามารถเลือกสติ๊กเกอร์ที่ต้องการมาอยู่บนหน้าจอได้เลย สามารถปรับขนาด จิ้มแล้วลากเพื่อย้ายตำแหน่งได้
ในภาพนี้ผมลองลากเจ้า Porg ตัวละครจากภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ภาคล่าสุดมาใส่ดู ส่วนถ้าอยากชมในแบบวิดีโอ ก็ตามคลิปด้านล่างนี้เลย
ระหว่างที่ทำงาน เครื่องจะอุ่นขึ้นมาเล็กน้อยครับ ลูกเล่นโดยรวมยังไม่เยอะมากนัก ผมมองว่าเป็นเหมือนของเล่นเพื่อแสดงตัวอย่างให้เห็นศักยภาพของระบบ AR ที่จะได้รับการพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีกในอนาคตมากกว่า อย่างในตอนนี้ Google เองก็เดินหน้าด้าน AR อยู่เยอะเหมือนกัน และ Pixel 2 / Pixel 2 XL ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ลองใช้เป็นกลุ่มแรกๆ แน่นอน
Software / ซอฟต์แวร์ในเครื่อง
ขึ้นชื่อว่าเป็นมือถือจาก Google เองโดยตรง ระบบปฏิบัติการก็ย่อมต้องเป็นสาย Pure Android 100% โดยเวอร์ชันที่ติดตั้งมาในเครื่องก็คือ Android 8.0 Oreo เลย รองรับการอัพเดตไปได้อีกยาวมากๆ อย่างต่ำน่าจะได้รับการอัพเดต OS แบบข้ามเวอร์ชันอีก 3 ครั้งแน่ๆ ส่วนในภาพคือเป็นเวอร์ชัน 8.1.0 ที่ได้รับการอัพเดตแพทช์เดือนมีนาคมไปแล้วนะครับ โดยตารางการอัพเดตแพทช์ความปลอดภัยหลักๆ นั้น Google จะวางไว้ทุกวันที่ 5 ของเดือน
ด้านอินเตอร์เฟสก็จะเป็นแบบเรียบถึงเรียบที่สุด วิดเจ็ตบนจอจะมีสองอันที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งหรือปิดได้เลย ก็คือ แถบแสดงวัน (ในภาพคือแสดงนัดหมายที่ใกล้มาถึง) และแถบค้นหาของ Google ที่อยู่ด้านล่างสุด ก็อาจจะทำให้ผู้ใช้หลายคนรำคาญอยู่บ้างเหมือนกัน วิธีแก้ที่ง่ายสุดก็คือหาลันเชอร์ตัวอื่นมาลงครับ
ส่วนพื้นที่เก็บข้อมูล เครื่องที่ผมซื้อเป็น Pixel 2 XL ความจุ 64 GB พบว่าเมื่อเปิดเครื่องมา ระบบใช้ไปแค่ประมาณ 9.6 GB เท่านั้น เทียบแล้วน้อยกว่ามือถือ Android รุ่นอื่นๆ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจาก Pixel มันไม่มีแอปแถม ไม่มีฟีเจอร์ใดๆ ที่เป็นส่วนเกินมาเลย มีมาให้แต่แอป Google หลักๆ บางตัวเท่านั้น ขนาดแอปสาย Office อย่างพวก Docs และ Spreadsheet ของ Google เองยังไม่มีมาเลยด้วยซ้ำ น่าจะถูกใจสายคลีนที่ต้องการติดตั้งเฉพาะแอปที่ต้องการจริงๆ เป็นอย่างยิ่ง
แต่หลังจาก Google ปล่อย Android 8.1 มาให้ผู้ใช้ Pixel 2 XL ใช้งาน กลับพบปัญหาทัชเพี้ยนตรงบริเวณฝั่งล่างของจอ ซึ่งเป็นปัญหาหนักมากสำหรับการเล่นเกมบน Pixel 2 XL ทำให้บางครั้งการบังคับตัวละครผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็น ซึ่งผมก็พบปัญหานี้ด้วยเช่นเดียวกันครับ ที่ยังดีหน่อยคือ หลายๆ ท่านที่ใช้ Pixel 2 XL มาตั้งแต่แรกบอกว่า ตอนที่ยังใช้ Android 8.0 อยู่ ไม่เคยพบปัญหานี้เลย เพิ่งจะมาเป็นตอน 8.1 นี่เอง ทำให้ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าน่าจะเป็นปัญหาจากซอฟต์แวร์ ซึ่งอาจจะแก้ได้แบบไม่ยากนัก ขึ้นอยู่กับการปล่อยแพทช์ของ Google เอง
Camera / กล้องถ่ายภาพ
มาถึงส่วนที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของ Google Pixel 2 XL (รวมถึง Pixel 2) แล้วครับ นั่นคือการรีวิวกล้อง สำหรับในเชิงของฮาร์ดแวร์ ก็บอกได้ว่าไม่ได้แตกต่างจากมือถือรุ่นสูงๆ ในท้องตลาดเท่าไร เช่น เซ็นเซอร์รับภาพแบบ Dual pixel ก็มาจาก Sony เลนส์รูรับแสง f/1.8 มีระบบกันสั่น OIS แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์ บอกเลยว่า Google จัดเต็มตามความถนัดของตนเอง ทั้งเรื่องการพัฒนาโหมดกล้อง การประมวลผลภาพ และที่สำคัญคือการนำ AI เข้ามาช่วยประมวลผลภาพ โดยเฉพาะในด้านของการจัดการแสงสว่าง และการเบลอพื้นหลังในโหมด Portrait
ก่อนจะไปถึงโหมด Portrait มาดูการทำงานทั่วไป และอินเตอร์เฟสแอปกล้องของ Google Pixel 2 XL ก่อนครับ หน้าตาก็จะคล้ายคลึงกับแอปกล้องของมือถือรุ่นอื่นๆ ทั้งปุ่มชัตเตอร์ ปุ่มตัวเลือกต่างๆ สำหรับภาพในรีวิวด้านบนจะเป็นแอปกล้องตอนเวอร์ชันแรกที่ติดเครื่องมา ถ้าเป็นตัวปัจจุบันก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยบางส่วนที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่หลักๆ ก็จะคล้ายคลึงกัน เช่น มีปุ่มปรับ white balance มาให้เลย รวมถึงยังมีปุ่มปรับโหมด HDR และฟีเจอร์ Motion มาให้ด้วย โดยเจ้า Motion หากเปิดไว้ กล้องก็จะจับภาพก่อนผู้ใช้กดชัตเตอร์เล็กน้อย เพื่อเก็บภาพไว้ในรูปแบบวิดีโอสั้นๆ ยกตัวอย่างให้เห็นชัดก็คือ คล้ายกับ Live Photo ของ iOS เลย
ส่วนโหมดกล้องที่มีให้ใช้งานก็ได้แก่ โหมด auto, โหมดถ่ายวิดีโอ slow motion (120 fps หรือ 240 fps), โหมดภาพพาโนรามา, โหมด Photo Sphere (เก็บภาพ 360 องศารอบตัวผู้ใช้), โหมด Portrait และโหมด AR Stickers ที่กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ไม่มีโหมด Pro มาให้ครับ รวมถึงไม่สามารถถ่ายภาพเป็นไฟล์ RAW ได้ด้วย หากต้องการถ่ายก็คงต้องหาแอปอื่นมาติดตั้งเอง
โหมด Portrait
ตามปกติแล้ว การถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอ จะขึ้นอยู่กับหลายๆ อย่าง เช่น ความรูรับแสง ซึ่งส่งผลกับระยะ focal length ของเลนส์กับเซ็นเซอร์รับภาพ รวมถึงระยะห่างจากตัวแบบ ซึ่งเพียงแค่ปัจจัยข้อแรก ก็ทำให้การถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอทำได้ไม่สะดวกเท่ากับพวกกล้องจริงๆ แล้ว เราจึงได้เห็นผู้ผลิตหลายรายเลือกใช้เลนส์กล้องคู่ที่มีความแตกต่างกัน เช่น เลนส์ปกติ+เลนส์สำหรับเก็บระยะ depth อย่างเดียว หรือจะเป็นเลนส์ปกติ+เลนส์เทเล ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบเก็บทั้งภาพปกติ และเก็บระยะชัดลึกของภาพ เพื่อนำมาประมวลผลสำหรับเลือกจุดเบลอในภาพ แล้วรวมกันเป็นภาพที่ดูมีมิติ มีความเบลอของพื้นหลังในแบบที่ใกล้เคียงภาพจากกล้องจริงๆ มากขึ้น ซึ่งนิยมนำมาใช้กับพวกโหมด portrait สำหรับถ่ายคน ถ่ายวัตถุที่ต้องการเน้นความโดดเด่นของตัวแบบด้วยการเบลอฉากหลัง
แต่สำหรับใน Google Pixel 2 XL นั้น Google เลือกใช้กล้องเพียงตัวเดียว ที่มีเทคโนโลยี Dual Pixel ช่วยจับระยะเบื้องต้นมาด้วยส่วนหนึ่ง บวกกับเทคโนโลยี AI ซึ่งอาศัยการเรียนรู้จากฐานข้อมูลภาพถ่ายที่ Google มีเก็บไว้มากมายมหาศาลนับไม่ถ้วน เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพ เช่น สอนให้รู้ว่าลักษณะนี้คือภาพหน้าบุคคลซึ่งควรโฟกัสให้ชัด ส่วนที่เหลือคือพื้นหลังที่ควรเบลอ เป็นต้น ทำให้ Pixel 2 และ Pixel 2 XL สามารถถ่ายภาพแบบหน้าชัดหลังเบลอได้ แม้จะมีกล้องหลังเพียงตัวเดียวก็ตาม
หากดูในภาพด้านบน นั่นคือเป็นการดูภาพหลังถ่ายมาแล้วครับ จะเห็นว่าผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าต้องการภาพใดระหว่างภาพปกติ และภาพแบบ portrait (กล้องจะถ่ายภาพปกติมา แล้วมาใช้ AI ช่วยเบลอทีหลัง จากนั้นก็เซฟภาพแยกให้) ที่มีการเบลอพื้นหลังมากกว่าเล็กน้อยตรงเส้นรอยต่อชิ้นเหล็กข้างๆ ตัวโมเดล เพื่อเน้นตัวโมเดลให้ชัดเจนขึ้น แต่ทั้งนี้ ผู้ใช้ไม่สามารถปรับระดับความเบลอของพื้นหลังได้นะครับ มีมาระดับเดียวเลย ก็นับเป็นจุดที่ Pixel 2 / 2 XL ด้อยกว่าเครื่องรุ่นอื่นนิดหน่อย
ทีนี้มาดูตัวอย่างภาพถ่ายเทียบกันระหว่างภาพปกติ กับภาพที่ผ่านการเบลอด้วย AI ครับ อย่างที่บอกไปแล้วคือ ทุกภาพคือภาพเดียวกันเป๊ะ แต่ระบบจะเซฟภาพแยกให้ระหว่างภาพปกติ กับภาพโหมด Portrait ที่ผ่านการเบลอหลังมาแล้ว
จากภาพปกติทางซ้าย จะเห็นว่าการเบลอพื้นหลังจะเป็นไปตามกายภาพของชิ้นเลนส์ ระยะ focal length และเซ็นเซอร์รับภาพเองล้วนๆ ส่วนภาพขวา AI ประมวลผลให้เรียบร้อย และคิดว่าวัตถุที่อยู่ในระนาบเดียวกับหัวใจสีชมพูน่าจะชัดที่สุด มันเลยจัดการเบลอพื้นหลังให้ เรื่องความเนียนของขอบวัตถุ จัดว่าดีงามมาก รวมถึงมีการไล่ระดับความเบลอให้ดูเป็นธรรมชาติด้วย ไม่ใช่ว่าพอพ้นวัตถุหลักแล้ว ทุกส่วนของภาพจะเบลอเท่ากันไปหมด
เมื่อทดสอบในพื้นที่แสงน้อย (บริเวณโต๊ะมีแสงสลัวๆ โดยพื้นหลังมีแสงสว่างจ้ากว่ามาก) ผมถ่ายรูปโดยแตะเลือกจุดโฟกัสที่รอยต่อระหว่างฝาปิดกับตัวแก้ว AI ก็ยังทำหน้าที่ของมันได้ดีเกินคาดมากๆ ด้วยการเบลอพื้นหลังแบบเนียนๆ ขอบแก้วก็ยังชัดอยู่ ไม่มีเส้นของเก้าอี้ด้านหลังงอกออกมาข้างแก้ว ที่สำคัญคือหลอดก็ชัดด้วย !!
หากใครที่เคยใช้มือถือรุ่นอื่นๆ ถ่ายภาพเบลอหลังในลักษณะนี้ มักจะเจอปัญหาที่ว่าหลอดถูกเบลอไปด้วย จะมีก็แค่บางจุดของฝาปิดแก้วที่ถูกเบลอเกินมานิดหน่อย
ใช่ว่าการเบลอด้วย AI ของโหมด Portrait จะใช้ได้แต่กล้องหลัง เพราะกล้องหน้ามันก็ทำได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็มาจากการที่มันใช้ AI ในการประมวลผล เท่ากับว่าไม่ว่าจะเป็นกล้องใดๆ ก็สามารถใช้งานได้นั่นเอง ผลก็คือตามภาพคู่บนเลยครับ มันเบลอหลังได้ค่อนข้างดีมากๆ จะมีบางจุดตรงเส้นผมและเสื้อที่ถูกเบลอเกินไปบ้าง แต่ถ้ามองว่านี่คือกล้องหน้าตัวเดียว แต่ทำได้แทบไม่แพ้พวกกล้องคู่ทั้งหลายเลย นับว่า AI ของ Google นี่น่ากลัวมากทีเดียว
ส่วนด้านล่างนี้ก็เป็นภาพถ่ายบุคคลจากโหมด Portrait ด้วยกล้องหลังครับ กับสภาพแสงที่ค่อนสว่าง แต่เป็นแสงแข็งๆ จากหลอดไฟ ความเนียน (ของภาพ) ก็จัดว่าพอใช้ได้เลย มีส่วนที่เบลอกินเนื้อเข้ามาเกินอยู่เหมือนกัน
เห็นตัวอย่างภาพจากโหมด Portrait ของ Google Pixel 2 XL ไปแล้ว ในแง่ของการใช้งานก็ไม่ยากครับ หลังจากเปลี่ยนโหมดแล้ว ระยะของภาพพรีวิวจะเหมือนถูกซูมเข้ามาใกล้กว่าโหมด auto ปกติ หลังกดถ่ายเสร็จ ระบบจะใช้เวลาประมวลผลภาพด้วย AI เล็กน้อย ซึ่งการทำงานจะเป็นแบบออฟไลน์ทั้งหมดครับ
โหมด HDR+ Enhanced
ปีที่ผ่านมา Google เปิดตัวโหมด HDR+ ใน Pixel และ Pixel XL รุ่นแรก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการถ่ายภาพแบบ HDR ที่ให้รายละเอียดภาพคมชัด แม้จะเป็นการถ่ายย้อนแสงก็ตาม พอมาในช่วงเปิดตัว Pixel 2 และ Pixel 2 XL ก็มีการเปิดตัวเทคโนโลยี HDR+ Enhanced ที่เหนือชั้นขึ้นมาอีก ซึ่งถ้าให้เทียบจริงๆ แล้ว HDR+ On ก็คือพวกโหมด HDR auto ที่เปิดให้ระบบคิดเองว่าจะถ่ายแบบ HDR มั้ย ส่วน HDR+ Enhanced ก็คือการบังคับให้ระบบถ่าย HDR นั่นแหละครับ หลักการของ HDR+ Enhanced ก็คือการถ่ายภาพแบบคร่อม EV (หลายระดับแสง) แล้วนำมาประมวลผลยำรวมเป็นภาพเดียวกัน เพื่อให้ได้ภาพที่เก็บแสงสว่างพร้อมกับเก็บดีเทล โดยเฉพาะส่วนที่อยู่ในเงามืดได้ดีขึ้น เหมาะกับการใช้ถ่ายย้อนแสงมากๆ อย่างในภาพตัวอย่างด้านบนก็เป็นการเทียบให้เห็นชัดๆ ว่าแต่ละโหมดมีความแตกต่างกันอย่างไร สำหรับสองภาพริมขวา คงต้องเพ่งดูดีเทลส่วนของเงามืดหน้าร้านดีๆ หน่อยครับ ถึงจะเห็นความแตกต่าง
หรือถ้าอยากเห็นความแตกต่างที่ชัดขึ้นเล็กน้อย ก็เป็นภาพชุดนี้เลย ภาพคู่บน ให้สังเกตความแตกต่างได้จากแสงอาทิตย์ที่ทะลุผ่านเมฆ ภาพทางขวาจะยังคงเห็นรายละเอียดของกลุ่มเมฆอยู่ รวมถึงพื้นที่ใต้รางรถไฟฟ้าที่เป็นเงามืดๆ ภาพขวาจะเห็นรายละเอียดมากกว่านิดหน่อย
ส่วนภาพชุดล่างก็ให้สังเกตที่บริเวณชั้นบนของสถานีรถไฟฟ้า ตรงจุดที่มีแสงจ้า ภาพขวาจะมีดีเทลของตัวสถานีให้เห็นชัดกว่า ส่วนภาพซ้าย แสงจะสว่างจ้าและฟุ้งกว่าอย่างเห็นได้ชัด ถ้าดูจากภาพความละเอียดสูงเต็มๆ แล้วซูมเข้าไป ภาพจากโหมด HDR+ Enhanced จะเห็นรายละเอียดคมชัดจนถึงขั้นอ่านป้ายบนสถานีได้เลย ในขณะที่ภาพจาก HDR+ ปกติ จะสว่างฟุ้งจนอ่านได้ยาก ซึ่งเรื่องความคมชัดนี้ ส่วนหนึ่งก็ต้องยกประโยชน์ให้กับ OIS ด้วย ที่ลดการสั่นของภาพ ทำให้แม้ระบบจะต้องถ่ายหลายภาพติดๆ กัน ภาพที่ออกมาก็คมชัด ไร้ปัญหาภาพเบลอ
อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริง การใช้เพียง HDR+ On ก็เหลือเฟือแล้วครับ เก็บ Enhanced ไว้ใช้เวลาที่จำเป็นจริงๆ จะดีกว่า เพราะหลังถ่ายแล้ว มันจะมีเวลาในการประมวลผลภาพก่อน ถึงจะถ่ายภาพต่อไปได้
ส่วนภาพถ่ายทั่วๆ ไปจากกล้องหลังของ Google Pixel 2 XL ก็สามารถคลิกชมจากแกลเลอรี่ด้านล่างนี้ได้เลยครับ ทั้งกลางวัน กลางคืน Portrait HDR พาโนรามา
ฝั่งของการถ่ายวิดีโอก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของ Google Pixel 2 XL เลยทีเดียว โดยจากที่มีรีวิวกันออกมาก่อนหน้านี้ จุดที่ Pixel 2 / 2 XL ทำได้เยี่ยมก็คือระบบโฟกัสรวดเร็ว แม่นยำ สีสันที่ดี รวมถึงระบบกันสั่นที่สุดยอดมากๆ ตัวหนึ่ง ผมเลยจัดการทดสอบซะเลย วิดีโอนี้ถ่ายที่ความละเอียดระดับ 4K 30fps ครับ ระหว่างถ่ายก็คือเดินไปถ่ายไป ถือเครื่องด้วยมือเดียว ไม่ได้ใช้ไม้กันสั่นใดๆ ทางเดินก็มีระดับสูงต่ำบ้างตรงบริเวณที่เป็นทางลาด
ภาคกลางวันไปแล้ว มาชมภาคกลางคืนกันบ้างครับ ลักษณะการถ่ายก็เช่นเดิม ใช้มือถือเครื่องแล้วเดินถ่าย
ทั้งนี้ นอกเหนือจากกล้องจะเทพแล้ว Google ยังใจดี อนุญาตให้ผู้ใช้ Pixel 2 / Pixel 2 XL อัพโหลดภาพแบบเต็มความละเอียดจาก Pixel ของตนเองไปเก็บบน Google Photos ได้แบบไม่จำกัดความจุเป็นเวลา 2 ปีอีกด้วย !! ส่วนถ้าสมมติใช้ไปจนถึงกำหนด 2 ปีก็ไม่ต้องห่วงครับ เพราะตามปกติแล้ว Google เปิดให้ผู้ใช้ทั่วไปอัพโหลดภาพที่มีขนาดไม่เกิน 12 ล้านพิกเซลไปเก็บบน Google Photos ได้แบบไม่จำกัดความจุอยู่แล้ว ซึ่งกล้องของ Pixel 2 XL ก็มีความละเอียดประมาณ 12 ล้านพิกเซลพอดี ก็เท่ากับว่าภาพแทบจะไม่ได้ถูกย่อความละเอียดลงเลยนั่นเอง
Performance / ประสิทธิภาพ ความแรง
ปิดท้ายด้วยการรีวิวความแรง ประสิทธิภาพของ Google Pixel 2 XL ครับ สเปคที่อัดให้มาก็นับว่าเป็นระดับท็อปของปี 2017 มาจนถึง 2018 ได้แบบหายห่วง ไม่ว่าจะเป็นชิปประมวลผล Snapdragon 835 มาพร้อมชิปกราฟิก Adreno 540 ที่รองรับได้ทุกการทำงาน เล่นทุกเกมได้ไหลลื่นแบบไม่ต้องลุ้น ผลทดสอบคะแนนด้วยแอปชื่อดังอย่าง AnTuTu ก็กวาดไปได้ราวๆ 200,000 คะแนน แรม 4 GB ที่ส่วนใหญ่จะเหลือว่างให้ใช้ได้อีกประมาณ1 GB
ชิปหน่วยความจำ (รอม) ก็เลือกใช้เป็นแบบ UFS ที่ให้ความเร็วสูง ดังนั้นก็บอกได้เลยว่าฮาร์ดแวร์ภายในของ Pixel 2 และ Pixel 2 XL นี่อยู่ในระดับท็อปสมราคามากๆ ส่วนการใช้งาน 4G LTE ในไทยนั้น ผมพยายามเทสความเร็วไปเรื่อยๆ ก็ไปเจอสูงสุดตามในภาพครับ ดังนั้นก็คงแทบไม่ต้องสนว่ามันจะกี่ CA เอาเป็นว่าใช้งานในไทยได้ 100% แทบจะไม่ต่างจากมือถือเครื่องอื่นๆ เลย (สำหรับคนที่ไม่ได้ซีเรียสเรื่องความเร็ว)
แต่ที่น่าห่วงหน่อยก็คือการที่มันไม่สามารถใช้งาน VoLTE ของเครือข่ายใดได้เลย เนื่องจากเฟิร์มแวร์ไม่รองรับเครือข่ายในไทยครับ สำหรับในปัจจุบันอาจจะยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ในเชิงการใช้งานจริง การคุยโทรศัพท์ผ่านคลื่น 4G LTE มันให้เสียงที่คมชัดกว่าจริงๆ นะ รวมถึงการไม่รองรับการโทรผ่าน WiFi (VoWIFI) ในตัวด้วย หากต้องการใช้งาน ก็ต้องหาแอปพลิเคชันของแต่ละเครือข่ายมาใช้งานเสริมเอง
ระยะเวลาการใช้งานแบตเตอรี่ของ Google Pixel 2 XL ก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ทำได้ดี สามารถใช้งานจนหมดวันได้ สำหรับในภาพคู่ด้านบน เป็นการใช้งานที่ค่อนข้างหนักเหมือนกันครับ ทั้งใช้เล่นโซเชียล คุย LINE เปิด Google Maps บ่อยมากๆ ระยะเวลาที่หน้าจอเปิด คิดเป็น 3 ชั่วโมงกว่าๆ เริ่มใช้งานตอน 8 โมงนิดๆ พอถึงบ่ายสองครึ่งก็เหลือแบตราว 32% เท่านั้น แต่ถ้าเป็นการใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป นั่งทำงานระหว่างวัน มีเวลาเปิดดูมือถือแค่บางช่วง ก็พบว่าเหลือแบตกลับบ้านได้แบบไม่ต้องชาร์จระหว่างวันเลย
พอมาเป็นเรื่องการชาร์จไฟให้ Google Pixel 2 XL ผมทดสอบโดยการใช้อะแดปเตอร์และสายที่แถมมาในกล่อง ซึ่งรองรับฟีเจอร์ PD ทั้งระบบ ทำให้การชาร์จไฟเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว จากที่เริ่มต้น 10% เพิ่มมาเป็น 51% ภายในครึ่งชั่วโมง และกลายเป็น 80% หลังชาร์จเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
ที่น่าสนใจก็คือถ้าดูจากตั้งแต่ช่วง 09:46 น. เป็นต้นไป จนถึง 10:13 น. % แบตเตอรี่ที่ชาร์จเข้ามาได้ต่อ 1 นาทีนั้นเฉลี่ยมากกว่า 1% อีกด้วย ต่างจากเครื่องอื่นๆ ที่ผมเคยทดสอบมา ส่วนใหญ่อัตราการชาร์จเข้าจะคงที่ เฉลี่ยนประมาณนาทีละ 1% ส่วนในช่วงท้ายๆ ก็จะปรับลดปริมาณไฟลง เพื่อเป็นการถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่ ซึ่งในการใช้งานจริงมันตอบโจทย์ได้ดีมากๆ กับการชาร์จแบบเร่งด่วนระหว่างวัน ซึ่งถ้าหากต้องการชาร์จเร็ว ก็ต้องเลือกใช้อะแดปเตอร์และสายที่รองรับ USB-PD ด้วยนะ
ข้อดี
ข้อสังเกต
บทสรุป
BEST PRICE